ทวิตเตอร์ได้รับการแนะนำให้สร้างกรอบการกำกับดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ใหม่ หลังจากทางการสหรัฐตรวจสอบพบว่า ทวิตเตอร์ไม่มีการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพียงพอ อีกทั้งยังไม่มีหัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของข้อมูลเมื่อบัญชีผู้ใช้งานของบริษัทคริปโตเคอร์เรนซีหลายแห่ง และบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหลายรายถูกแฮกเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ปีนี้
ลินดา เอ.เลซเวลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการทางการเงินในสังกัดกระทรวงบริการทางการเงินแห่งรัฐนิวยอร์ก (DFS) กล่าวว่า “แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกลายเป็นแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลชั้นนำอย่างรวดเร็ว แต่กลับยังไม่มีผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ของทวิตเตอร์อย่างเพียงพอ ข้อเท็จจริงที่ว่าทวิตเตอร์สุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีที่ไม่ซับซ้อนนั้นแสดงให้เห็นว่า การกำกับดูแลด้วยตัวเองไม่ใช่คำตอบ”
รายงานระบุว่า แฮกเกอร์หลายรายเข้าถึงระบบของทวิตเตอร์ด้วยการโทรศัพท์หาพนักงานของบริษัท และอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากแผนกไอทีของทวิตเตอร์
หลังจากแฮกเกอร์หลอกพนักงาน 4 คนให้แจ้งข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบแก่พวกเขา พวกเขาก็ได้ขโมยบัญชีทวิตเตอร์ของนักการเมือง คนดัง และผู้ประกอบการหลายราย รวมถึงบารัค โอบามา, คิม คาร์แดเชียน เวสต์, เจฟฟ์ เบซอส, อีลอน มัสก์ และบริษัทระบบเงินตราเข้ารหัสหลายแห่ง ซึ่งบัญชีเหล่านี้มีผู้ติดตามหลายล้านคน
“การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่ถึง 30 วัน เราต้องมุ่งมั่นกำกับดูแลบริษัทโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ให้มากขึ้น เพราะความสมบูรณ์ของการเลือกตั้งและตลาดของเรายึดโยงอยู่กับสิ่งนี้ จะเห็นได้ว่าการตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพของบริษัทระบบเงินตราเข้ารหัสที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงฯ มีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโต และปกป้องผู้บริโภคไปพร้อมกันได้มากเพียงใด”
เลซเวลล์กล่าว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในปี 2562 ทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 330 ล้านคนต่อเดือน โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยพิวระบุว่า71% ของชาวอเมริกันบนทวิตเตอร์ใช้แพลตฟอร์มนี้ติดตามข่าวสาร และ 42% ของชาวอเมริกันใช้ทวิตเตอร์เพื่อพูดคุยเรื่องการเมือง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 63)
Tags: XINHUA, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, ทวิตเตอร์, ลินดา เอ.เลซเวลล์, สหรัฐ, เลือกตั้งสหรัฐ