พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีผลตั้งแต่เวลา 04.00 น.วันนี้ (15 ต.ค.) เป็นต้นไป เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง
พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พนักงานเจ้าหน้าที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติตามสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามกำหนดไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
- ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
- คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 36/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
- ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
- ประกาศ ตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่บริเวณการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่ปักหลักพักค้างรอบทำเนียบรัฐบาล และสามารถยึดพื้นที่ได้ในเวลาต่อมา ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศให้มวลชนที่ปักหลักอยู่ที่บริเวณดังกล่าวให้แยกย้ายกลับบ้าน
รัฐบาลออกข้อกำหนด (ข้อห้าม) ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ส่วนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยุติลงได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดไว้ดังนี้
- ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
- ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
- ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไข ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
- ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ใดๆ และให้ออกจากอาคารหรือสถานที่ใดๆ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
- ในการดำเนินการตามข้อ 1-4 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฎิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฎิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้
ม็อบประกาศจุดยืน จัดชุมนุมต่อที่ราชประสงค์
ด้านเพจเฟซบุ๊กของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคณะราษฎร ออกแถลงการณ์ เรื่อง จุดยืนต่อการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยระบุว่าจากกรณีการสลายการชุมนุม ในเช้าวันนี้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทั้งมีการจับกลุ่มแกนนำและผู้ปราศรัยทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นายอานนท์ นำภา นายประสิทธิ์ อุธาโรจน์ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด เพราะการชุมนุมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดมา
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการกระทำที่ภาครัฐมีจุดมุ่งหมายบั่นทอนขบวนการประชาธิปไตย ขัดขวางประชาชน เป็นการกระทำเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและพวกพ้องหาใช่เพื่อส่วนรวมไม่
ทั้งนี้ ขอแสดงจุดยืนโดยจัดการชุมนุมต่อไป ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 16.00 น. ณ แยกราชประสงค์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 63)
Tags: Infographic, การเมือง, คณะราษฎร, ชุมนุมทางการเมือง, ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ม็อบ, ราชประสงค์, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม