สำนักข่าวนิกเกอิรายงานว่า จีนซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยเพิ่มการถือครองบอนด์ญี่ปุ่นขึ้นมากกว่า 3 เท่าในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค.ปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทั้งนี้ จีนซื้อสุทธิ JGB ระยะกลางถึงระยะยาวในช่วง 3 เดือนดังกล่าวเป็นมูลค่า 1.46 ล้านล้านเยน (1.38 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 3.6 เท่า ในขณะที่สหรัฐซื้อ JGB เพิ่มขึ้นเพียง 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนยุโรปขายทิ้ง JGB เป็นมูลค่า 3 ล้านล้านเยน
อัตราผลตอบแทน JGB อยู่ที่ราวระดับ 0% ซึ่งทำให้ JGB ไม่น่าจะเป็นทางเลือกในการลงทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก
รอส ฮัทชิสัน ผู้อำนวยการด้านการลงทุนพันธบัตรโลกของอเบอร์ดีน สแตนดาร์ด อินเวสเมนต์ส ระบุว่า “สิ่งที่น่าแปลกเกี่ยวกับภาวะปัจจุบันก็คือ JGB จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสกุลเงินที่นำไปซื้อ”
ยกตัวอย่างเช่น จีนสามารถทำกำไรจากการลงทุนโดยการซื้อ JGB อายุ 30 ปีที่อยู่ในรูปสกุลเงินเยน แล้วทำการสวอปการลงทุนนั้นกลับไปเป็นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็จะได้กำไรส่วนต่าง 0.56% จากการดำเนินการดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
เดวิด โนวาคาวสกี นักวิเคราะห์ของเอวิวา อินเวสเตอร์สระบุว่า “ผู้จัดการกองทุนจำนวนมากซื้อ JGB แล้วทำการสวอปหรือประกันความเสี่ยง (hedge) สกุลเงินกลับไปเป็นดอลลาร์ โดยได้รับค่าพรีเมียมพื้นฐานเพิ่มเติม”
ฮัทชิสันระบุว่า มีความเป็นไปได้ด้วยว่า จีนอาจพยายามที่จะจัดการกับการแข็งค่าของเงินหยวน เนื่องจากหยวนพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเยนในเดือนมิ.ย. การขายหยวนเพื่อซื้อ JGB ซึ่งอยู่ในรูปเงินเยนนั้น อาจช่วยสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินหยวน
เงินหยวนพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ด้วยในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โนวาคาวสกีกล่าวว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่จีนเข้าซื้อ JGB ก็เพราะ JGB ไม่ได้ให้อัตราผลตอบแทนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับพันธบัตรทั่วโลก เขาระบุว่า “ตลาดพันธบัตรญี่ปุ่นมีความน่าดึงดูดใจมากกว่าพันธบัตรของประเทศอื่นๆ แม้ JGB จะมีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่า 0% เล็กน้อย แต่พันธบัตรสวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศหลักๆ ในยูโรโซนนั้น ล้วนมีอัตราผลตอบแทนที่ติดลบอย่างรุนแรง”
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกในปีนี้ลดลง เนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนจึงลดลงสวนทางกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 63)
Tags: การลงทุน, ตราสารหนี้, บอนด์, ประกันความเสี่ยง, พันธบัตร, อัตราผลตอบแทน