นักวิจัยออสเตรเลียเปิดเผยว่า จีโนมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวทั่วไป เช่น ธนบัตรและกระจก ได้นานถึง 28 วัน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย ได้เผยแพร่งานวิจัยใหม่เกี่ยวกับความสามารถในการอยู่รอดของเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ โดยงานวิจัยพบว่า เชื้อโควิด-19 สามารถอยู่ได้นานกว่าที่อุณหภูมิต่ำ และมีแนวโน้มจะอยู่รอดได้นานขึ้นบนพื้นผิวที่เรียบ เช่น กระจก เหล็กกล้าไร้สนิม และอยู่รอดบนธนบัตรกระดาษได้นานกว่าบัตรเครดิต
แลร์รี มาร์แชล ผู้บริหารสูงสุดของ CSIRO ระบุว่า งานวิจัยอาศัยข้อมูลการทำงานเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนหน้านี้ของหน่วยงาน เช่น การทดสอบวัคซีนและการทดสอบน้ำเสีย
นายมาร์แชลกล่าวว่า “การรู้ว่าไวรัสจะอยู่ได้นานแค่ไหนบนพื้นผิวต่าง ๆ ช่วยให้เราคาดการณ์ได้แม่นยำขึ้นและบรรเทาการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถทำหน้าที่ในการปกป้องประชาชนได้ดีขึ้นด้วย”
“ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า เชื้อโควิด-19 ยังคงอยู่รอดบนพื้นผิวได้เป็นเวลานาน ซึ่งย้ำถึงความสำคัญของแนวทางปฏิบัติที่ดี เช่น การล้างมือและทำความสะอาดพื้นผิวเป็นประจำ” เด็บบี อีเกิลส์ รองผู้อำนวยการของศูนย์เตรียมความพร้อมโรคของออสเตรเลีย (ACDP) ของ CSIRO กล่าว
“เราพบว่าที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิห้อง ไวรัสมีความแข็งแรงมาก โดยอยู่รอดได้นานถึง 28 วันบนพื้นผิวเรียบ เช่น กระจกบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือและบนบัตรเครดิต”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 63)
Tags: COVID-19, CSIRO, SARS-CoV-2, องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ, ออสเตรเลีย, เด็บบี อีเกิลส์, แลร์รี มาร์แชล, โควิด-19