นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นโครงการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท โดยผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิต้องไม่ได้เป็นผู้ใช้สิทธิในโครงการ “คนละครึ่ง” หรือ บัตรสวัสดิการของรัฐ
ในส่วนสินค้าหรือค่าบริการ จะไม่รวม สุรา เบียร์ ไวน์, ยาสูบ, ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ, ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ, ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร และค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต, ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวว่าด้วยกฎหมายนำเที่ยว หรือ มัคคุเทศน์, ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม เพราะบางส่วนอยู่ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
ทั้งนี้ ผู้มีรายได้จะต้องซื้อสินค้าหรือค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย และต้องได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
นายอนุชา กล่าวว่า ในส่วนการซื้อสินค้าและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว จะจ่ายให้กับผู้ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มได้
จากฐานข้อมูลของผู้เสียภาษีรายได้บุคลลธรรมดา ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 3.7 ล้านคน จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 14,000 ล้านบาท แต่จะมีเม็ดเงินเข้ามาเพื่อให้เกิดกำลังซื้อได้ประมาณ 1.11 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2563 โดยคาดว่า GDP จะเพิ่มขึ้นได้ 0.30%
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการ/มาตรการ ได้แก่ “โครงการคนละครึ่ง” จะช่วยเหลือดูแลพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา “โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษ สำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน และ “มาตรการช้อปดีมีคืน” จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและส่งเสริมการอ่าน
ทั้งนี้ โครงการ/มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 28 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.54%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 63)
Tags: คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน, บัตรคนจน, บัตรสวัสดิการ, ลดหย่อนภาษี, อนุชา บูรพชัยศรี