นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เดินทางเข้ากระทรวงคลังในการทำงานวันแรก ภายหลังถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกล่าวถึงงานสำคัญเร่งด่วนในฐานะ รมว.การคลังว่า จะต้องเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งมีศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) คอยกำกับดูแลอยู่แล้ว โดยมี 4 เรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ
- การดูแลภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ จนส่งผลต่อสภาพคล่อง เพราะการใช้จ่ายของภาคเอกชน และภาคประชาชน คิดเป็น 70% ของจีดีพี อีก 20% เป็นส่วนของรัฐ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลด้วย
- ผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งต่อเนื่องมาจากในช่วงที่คุมเข้มเรื่องโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการบริโภคยังต่ำอยู่ ดังนั้นต้องมีมาตรการออกมาช่วย ทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่เรื่องการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน เพราะฉะนั้นเรื่องกำลังซื้อเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราต้องอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศ อย่าลืมว่าในเรื่องการบริโภคภายในประเทศคิดเป็น 50% ของจีดีพี โดยเศรษฐกิจขณะนี้ต้องพึ่งพาเรื่องภายในประเทศเป็นหลัก
- ผลกระทบภาคการท่องเที่ยว ต้องดูธุรกิจที่เกี่ยวข้องของการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในมาตรการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในบางส่วนนั้นมาตรการที่เข้าไปเสริมสภาพคล่องและเข้าไปแก้ปัญหาให้กับกลุ่มต่าง ๆ อาจจะยังไม่ค่อยออกมาดีเท่าไหร่ ก็ต้องเข้าไปช่วย ศบศ. และได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ว่าในเรื่องการขับเคลื่อนหรือการเร่งรัดแก้ไขข้อติดขัดในส่วนนี้ จะต้องรีบดำเนินการ
- การใช้จ่ายภาครัฐต่อไปต้องต่อเนื่อง โดยกระทรวงคลังจะดูเรื่องเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และเรื่องล้างท่อ เงินค้างท่อต่าง ๆ เพื่อให้กระแสเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งดูแลกระแสเงินสดภาครัฐ เพื่อให้มีเพียงพอ ซึ่งขณะนี้มีเพียงพออยู่แล้ว แต่ต้องดูแลให้ทั่วถึง ขณะที่การเบิกจ่ายเม็ดเงินต่าง ๆ ให้ไปสู่ประชาชน
“จริง ๆ แล้วมาตรการที่ ศบศ. ออกมาดูแลครบเกือบทั้งหมด เพียงแต่ว่าในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว ที่เตรียมจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ยังต้องชะลอไปก่อน ดังนั้นก็ต้องมีมาตรการเข้าไปดูแลตั้งแต่ซับพลายเชนภาคท่องเที่ยว เริ่มมาตั้งแต่ระดับล่าง ชาวบ้านที่เป็นซับพลายเออร์ให้กับโรงแรมต่าง ๆ กิจการโรงแรม กิจการภัตตาคารและแหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหมดต้องดูแลทั้งหมด”
นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้ จะมีการหารือเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบในส่วนเงินกู้ อาจจะได้รับเสียงบ่นกันว่าออกมาช้า ตรงนี้ต้องดูว่าจะแก้ไขอย่างไร
สำหรับเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า นายอาคม กล่าวว่า ทุกอย่างต้องติดตามสถานการณ์ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอยู่ ส่วนมาตรการพักหนี้ที่จะหมด 22 ต.ค. มีการหารือกันอยู่ โดย ศบศ. มอบหมายให้ ธปท. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ดูแล ต้องรอดูผล เพราะเรื่องนี้ สศช.เป็นประธาน รวมทั้งเรื่องของการช่วยเหลือสภาพคล่องสายการบินตามที่เสนอขอมา โดย ศบศ. ได้มอบให้สภาพัฒน์ และธปท. เข้ามาดู ให้แยกแยะเรื่องหนี้ว่าเป็นหนี้ที่มาจากผลประกอบการ หรือว่ามาจากเรื่องโควิด-19 ให้ชัดเจน มีการคุยกันในระดับหน่วยงาน
นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็นกลไกหนึ่งในเรื่องการดูแลเศรษฐกิจภาพรวม ในฐานะที่ดูแลเศรษฐกิจด้วยก็ดูในเรื่องภาพรวมด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าปี 2564 ที่สถาบันต่าง ๆ ที่คาดการณ์เศรษฐกิจจะยังได้รับผลกระทบของโควิดต่อเนื่อง และอาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัว 1-2 ปี ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจของเดินได้ คลังก็ต้องร่วมกับหน่วยงานอื่นด้วย
นายอาคม ตอบข้อซักถามถึงความกังวลการเมืองแทรกแซงเหมือนกรณีนายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.การคลัง หรือไม่ นายอาคม ระบุว่า “ผมทำงานครับ เรายึดงานเป็นหลัก” ส่วนจะทำงานได้นานกว่า 27 วันหรือไม่ นายอาคม ยิ้มและหัวเราะให้กับผู้สื่อข่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 63)
Tags: กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., พ.ร.ก.กู้เงิน, รมว.คลัง, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, เงินบาท