นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ก.ย.63 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 67.44 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงความคาดหวังการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงการระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในหลายประเทศ
“ผลสำรวจ ณ เดือน ก.ย.563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลปรับตัวลงเล็กน้อยอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ที่ 80.30 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับ “ทรงตัว” เท่าเดิมที่ 100.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ “ซบเซา” ที่ 68.42 ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ “ซบเซา” ที่ 42.86″
นายไพบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้ FETCO Investor Confidence Index สำรวจในเดือน ก.ย.63 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธ.ค.63) อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง อยู่ที่ระดับ 67.44
- ความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับ “ทรงตัว” ส่วนความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับ “ซบเซา”
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เดือนก.ย.63 SET Index ปิดที่ 1,237.04 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 5.62% จากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน อาทิ ข่าวการหยุดชะงักของโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีในหลายประเทศปรับลงแรง ข่าวสถาบันการเงินของไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% ไปจนถึงปี 66
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงความคาดหวังการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงการระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในหลายประเทศ
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การกลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งของโควิด-19 จนต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มมากขึ้น การเจรจาการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ใกล้เข้ามา
ปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลจากการอนุมัติให้บุคคลเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ร้อนแรงขึ้น และผลจากการกลับมาเริ่มใช้เกณฑ์ปกติ “Short Selling – Ceiling & Floor” ของ SET และ TFEX
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 63)
Tags: FETCO, การเมือง, ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, เศรษฐกิจ, ไพบูลย์ นลินทรางกูร