เกาะติดหุ้นป้ายแดงอย่าง บมจ.สยามราชธานี (SO) ล่าสุดเตรียมเดินหน้าเข้าซื้อขายผ่านกระดานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 14 ต.ค.63 ด้วยราคา IPO ที่ 6.50 บาทต่อหุ้นเป็นผลจากการสำรวจความต้องการของนักลงทุนสถาบันตอบรับจองซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขายเกือบ 4 เท่าจากจำนวนเสนอขายไม่เกิน 85 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 27.42% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 6.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ที่ 16.7 เท่า คิดจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง เมื่อเทียบกับ SET Index ที่มี P/E Ratio อยู่ที่ 21 เท่า
ปัจจุบัน SO มีทุนจดทะเบียน 310 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 310 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์)หุ้นละ 1.00 บาท และมีทุนที่เรียกชำระแล้ว 225 ล้านบาท หรือ 225 ล้านหุ้น ภายหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะมีทุนชำระแล้วเต็มจำนวน โดยเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป 76.5 ล้านหุ้น และเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่เกิน 8.5 ล้านหุ้น
วัตถุประสงค์การระดมทุนจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต รวมทั้งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
ยันราคา IPO สอดคล้องปัจจัยพื้นฐานแกร่ง-ยอดจองกองทุนตอบรับแน่น
นายจิรณุ กุลชนะรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามราชธานี (SO) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ราคา IPO เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืนตามทิศทางของธุรกิจ Outsource ที่ถือเป็นทางเลือกการบริหารจัดการลดต้นทุน ลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ SO ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่บรรยากาศการโรดโชว์ในช่วงที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันค่อนข้างดี โดยราคา IPO ก็มาจากการสำรวจความต้องการของผู้ลงทุนสถาบัน และก็ได้รับการตอบรับว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผล โดยส่วนตัวก็มองว่าเป็นราคา IPO ที่มีความยุติธรรมกับผู้ถือหุ้นด้วย
“หุ้นที่ทางกลุ่มผู้บริหารถือครองก็เข้าเกณฑ์ Silent period มากกว่าเกณฑ์ปกติ แม้ว่าหลายคนจะกังวลว่าภาวะตลาดผันผวน แต่ถ้าในความเห็นส่วนตัวมองว่าการมีบริษัทพื้นฐานดี ไม่เคยขาดทุนจากประสบกาณณ์ทำงานมากว่า 40 ปี มีความโดดเด่นเรื่องระบบทำงานที่ดี หากนักลงทุนที่คิดจะลงทุนลองตัดสินใจว่าหุ้นของบริษัทมีความน่าสนใจแค่ไหน”
นายจิรณุ กล่าว
นายจิรณุ กล่าวอีกว่า ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท คือ การมีประสบการณ์บริหารและจัดการงาน Outsource มากว่า 40 ปี ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์คุณภาพและบริการหลากหลายครอบคลุม 2 กลุ่มธุรกิจได้แก่ 1.ธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร 2.ธุรกิจให้เช่าและบริการ และได้สร้างการรับรู้ในแบรนด์ให้เป็นที่จดจำผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจคือ 1.SO People สำหรับการบริหารจัดการพนักงานขับรถยนต์ พนักงานสำนักงานและพนักงานช่างเทคนิค 2.SO Green สำหรับบริการดูแลภูมิทัศน์ 3.SO Wheel สำหรับบริการรถยนต์ให้เช่า และ 4.SO Next สำหรับการบริหารจัดการงานบันทึกข้อมูล
“ธุรกิจ Outsource มีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก เราสังเกตุได้จากตลาด Outsource ในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีมูลค่ามหาศาล แต่ตลาด Outsource ในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเติบโตตามตลาดต่างประเทศ เพราะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดพัฒนาเข้ากับระบบบริหารจัดการองค์กรของประเทศไทย อีกหนึ่งความโดดเด่นของธุรกิจ Outsource ของเราคือการบริหารจัดการพนักงานขับรถยนต์ที่เป็นประเภทรถดัดแปลงที่ต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะ โดยปัจจุบันบริษัทมีบุคลากรขับรถยนต์มากกว่า 4,000 คนเป็นมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในอุตสาหกรรมนี้ในเมืองไทย”
นายจิรณุ กล่าว
ระดมทุน SET ขอยืนหนึ่ง “Outsource” เมืองไทย
นายจิรณุ กล่าวว่า บริษัทวางแผนระยะ 3-5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในธุรกิจ Outsource บุคลากรขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนั้น มีแผนขยายงาน Outsource ด้านบุคลากรที่มีความสามารถด้านไอทีครบวงจร
ทั้งนี้ เป้าหมายการระดมทุนด้วยการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ครั้งนี้ เพราะให้ความสำคัญการสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง เนื่องจากลูกค้าเกือบทั้งหมดเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้น การเป็นบริษัทจดทะเบียนเป็นช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทที่มีข้อปฎิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
นอกจากนั้น ยังได้รับเงินระดมทุนมาต่อยอดหลายมิติ ประกอบด้วย ธุรกิจบริการจัดหาบุคลากรและธุรกิจให้เช่าและบริการ เช่น แผนเพิ่มจำนวนพนักงานที่ส่งไปปฏิบัติงานกับลูกค้าในธุรกิจจัดหาบุคลากร แผนขยายการลงทุนในธุรกิจบริการรถยนต์ให้เช่า รวมถึงบริษัทมีแผนพัฒนาโครงการพัฒนาด้านเทคโนโลยี (ระบบ Automation) เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและความง่ายในการให้บริการลูกค้า และโครงการ HRM Solutions เพื่อให้บริการกับลูกค้าในส่วนงานทรัพยากรบุคคล เป็นต้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2564-2566
“ปัจจุบันบริษัทมีบุคลากรที่เป็นพนักงานกว่า 10,000 คน ซึ่งโครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นระบบ Automation คือช่วยให้บริษัทสามารถขยายบุคลากรภายใต้บริหารได้เป็นเท่าๆ ตัว โดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่เข้ามาบริหารจัดการ และการพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ๆ เช่น การบริการ Outsource ในส่วนงาน HRM ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลมาทั้งระบบขององค์กรนั้น หรือแม้แต่การเพิ่ม Outsource ในส่วนของงานเช่ารถดัดแปลงให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นส่วนผลักดันรายได้บริษัทเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆคงที่หรือลดต่ำลง ส่งผลเชิงบวกโดยตรงต่อแนวโน้มการเติบโตของภาพรวมกำไรในอนาคต”
นายจิรณุ กล่าว
เอกชนลดคนยุคโควิดหันจ้าง Outsource เพิ่ม
นายจิรณุ กล่าวต่อว่า ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 เป็นตัวแปรที่ทำให้เห็นว่าธุรกิจ Outsource กลับได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะหลายบริษัทต้องการลดต้นทุนด้านบุคลากรทำให้ธุรกิจ Outsource มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และเชื่อว่าหลังจากนี้ไปแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ Outsource ก็ยังมีเพิ่มขึ้นเช่นเดิม
โดยการคัดเลือกคนนั้นบริษัทมีกระบวนการคัดกรองด้วยระบบเทคโนโลยี ทำให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพพร้อมบริการกับลูกค้าที่เหมาะสมแต่ละประเภทงาน
“แม้ว่าจากจุดเริ่มต้นที่บริษัทเน้นการรับงานของหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันก็กระจายสัดส่วนเข้ามารับงานของหน่วยงานเอกชนมากขึ้น ส่งผลให้ล่าสุดมีสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงกันคือ 50% ซึ่งลูกค้าเอกชนก็ให้ตอบรับเป็นอย่างดี โดยกระบวนการทำงานภายในองค์กรใช้แนวคิดแบบ “อไจล์” เพื่อแก้ไขปัญหาและทำงานได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับงานที่ได้รับจากลูกค้าเอกชน” นายจิรณุ กล่าว
ธุรกิจเสี่ยงต่ำ ตลอด 40 ปีไม่เคยขาดทุน
สำหรับระยะเวลารับรู้รายได้ของแต่ละสัญญาที่มีกับลูกค้าทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนมีตั้งแต่ 1-3 ปี และสัญญาไม่เกิน 5 ปีสำหรับงานประเภทบุคลากรขับรถยนต์ และที่ผ่านมาบริษัทก็สามารถสนองความต้องการลูกค้าได้ตรงจุด และสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมมากกว่า 90% และขยายฐานลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 12% ของรายได้ ทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ
“ทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทคือ “คน” ไม่มีภาระการลงทุนเครื่องจักร เป็นข้อดีคือการรับงานแต่ละครั้ง จะเห็นกำไรอย่างชัดเจนเพราะเป็นลักษณะ Cost plus margin หรือเรียกว่าต้นทุนบวกกำไร ทำให้แต่ละงานโอกาสที่จะขาดทุนแทบจะไม่เกิดขึ้น สะท้อนจากตั้งแต่การดำเนินงานมา 40 ปีบริษัทไม่เคยขาดทุน และหนึ่งความโดดเด่นคือเราสามารถมองเห็นว่ามีลูกค้ากี่รายที่จะต่อสัญญาหรือไม่ต่อสัญญา ทำให้สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตได้อย่างชัดเจนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ”
นายจิรณุ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 63)
Tags: IPO, SO, จิรณุ กุลชนะรัตน์, สยามราชธานี, หุ้นไทย