เฟดกังวลสหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า เตือนตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 15-16 ก.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะมาตรการให้ความช่วยเหลือคนว่างงานซึ่งได้หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเฟดย้ำว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

รายงานการประชุมซึ่งมีการเผยแพร่ในวันพุธตามเวลาสหรัฐ ระบุว่า แม้ตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มฟื้นตัวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ภาพรวมของตลาดแรงงานยังคงอยู่ห่างไกลจากคำว่า “ฟื้นตัวอย่างเต็มที่” เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นนั้น บางส่วนเป็นพนักงานที่ถูกเลย์ออฟชั่วคราวและได้รับการว่าจ้างให้กลับมาทำงานใหม่

กรรมการส่วนใหญ่ของเฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือคนว่างงานซึ่งได้หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.และยังไม่มีการต่ออายุจนถึงขณะนี้ โดยมาตรการดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economic Security (CARES) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสสหรัฐในช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

“กรรมการเฟดมองว่า มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจภายใต้กฎหมาย CARES นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครัวเรือนหลายล้านครัวเรือน และกรรมการส่วนใหญ่มองว่า หากไม่มีการเยียวยาเพิ่มเติม ก็จะสร้างความยากลำบากให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย”

รายงานการประชุมระบุ

นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐและภาคเอกชนจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มากเพียงใด และยังขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในการรับมือกับไวรัสดังกล่าว

ในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 ก.ย.นั้น คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 นอกจากนี้ ที่ประชุมเฟดยังได้ระบุถึงการกำหนด”เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ของเฟดในการทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (8 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top