นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า เพื่อความสมดุลของเศรษฐกิจและสุขภาพของประเทศไทย จำเป็นต้องแง้มประตูเพื่อการส่งออก การท่องเที่ยว ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมที่จะรองรับการแย้มประตูเปิดรับต่างชาติ ถ้าเรามีวิธีการที่จะลดระยะเวลาในการ Quarantine ลดลงเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ เป้าหมายอยู่ที่ 7 วัน แต่จะทยอยลดลงตามหลักวิชาการ
โดยหลังจากนี้จะเริ่มทยอยปรับลดจำนวนวันในการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนักท่องเที่ยว นักกีฬา นักธุรกิจ เป็นต้น จากเดิม 14 วัน จะทยอยปรับลดลงตามหลักวิชาการเหลือ 12 วัน 10 วัน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้าลดเหลือ 7 วันจะมีผู้สนใจเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการบริโภคภายในประเทศอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องอาศัยต่างประเทศทั้งนักท่องเที่ยว ทั้งธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีมาตรการผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง และเปิดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเกิดความสมดุล การควบคุมไม่ให้เกิดโควิดอย่างเดียวโดยไม่ดูเรื่องอื่นจะเกิดผลกระทบในภาพรวม
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบสาธารณสุขของไทยมีมาตรการและความพร้อมอย่างเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์หากเกิดแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง โดยสถานการณ์โรคโควิด-19 ในระยะต่อไปจะแตกต่างจากครั้งแรกโดยสิ้นเชิง จะไม่มีการระบาดใหญ่เพราะเรามีมาตรการทางสังคม มาตรการสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล
“สิ่งที่เราดำเนินการได้ผล ขณะที่ทั่วโลกมีการติดเชื้อกว่า 36 ล้านคน แต่ของไทยมีเพียง 3 พันกว่าคน”
นอกจากนี้ ประเทศไทย ได้การจัดเตรียมระบบพร้อมรับมือโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ทั้งด่านอากาศ ด่านเรือ ด่านบก มี Quarantine Center ที่รองรับได้ 20,000-40,000 คน มีโรงพยาบาลกว่า 2,000-20,000 เตียง โรงพยาบาลสนามกว่า 10,000 เตียง มีทีมสอบสวนโรค 1,000-3,000 ทีม และมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR 10,000-100,000 Test/วัน
สำหรับฉากทัศน์ของการระบาดในระยะต่อไป กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำไว้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
- สถานการณ์ที่ป้องกันโรคได้ดี (Spike) การระบาดจากการนำเชื้อมาจากต่างประเทศ จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1-2 ราย ไม่มีการระบาดใหญ่
- สถานการณ์ที่ควบคุมโรคได้เร็ว (Spike with Small Wave) จะมีการระบาดในกลุ่มเล็กๆ 10-20 คน และสามารถควบคุมได้ในระยะเวลาไม่เกิน 3-4 สัปดาห์
- สถานการณ์ที่ควบคุมโรคได้ช้า (Spike with Big Wave) ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น คือเป็นเคสแรกๆ ที่มีการติดเป็นจำนวนมาก เช่น กรณีสนามมวยที่เคยเกิดขึ้น มีการติดเชื้อราว 100-200 คน โดยคาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นหากประชาชนให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เป็นประจำ และส่วนใหญ่ลักษณะนี้จะเป็นการติดเชื้อในสถานประกอบเป็นหลัก
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับกระบวนการดูแลสถานการณ์ในประเทศให้เกิดความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ โดยลดความเสี่ยงโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (7 ต.ค. 63)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, กักตัว, ท่องเที่ยว, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19, โอภาส การย์กวินพงศ์