นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC ถึงภาวะการลงทุนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.ในช่วงประสบปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ว่า ยังมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวม 277 โครงการ เงินลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวนโครงการและเงินลงทุนใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ส่วนเม็ดเงินลงทุนใน EEC มีมูลค่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ และส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ชลบุรีและระยอง
ในพื้นที่ EEC มีมูลค่าคำขอลงทุนจากต่างประเทศช่วง 8 เดือน คิดเป็น 6.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 60% ของมูลค่าคำขอทั้งหมดใน EEC โดยเม็ดเงินลงทุนมาจากประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด ตามมาด้วย จีน เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน และ สิงคโปร์ พร้อมทั้งเชื่อว่าหากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายจะมีการลงทุนจากต่างชาติอีกจำนวนมากที่รอเข้ามาลงทุนในไทย
ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยื่นคำขอ ส่วนใหญ่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใน New S-Curve มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านไบโอเทค ออโตเมชั่นและด้านการแพทย์
ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการลงทุนใน EEC มุ่งเน้นสนับสนุน 3 แกนนำกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบการแพทย์แม่นยำ จีโนมิกส์
- กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และยานยนต์สมัยใหม่ เน้นเทคโนโลยีระบบ 5G การพัฒนา Platform บนพื้นฐาน 5G
- ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistics) ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การบินและด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบจัดการเกี่ยวกับพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภา
นอกจากนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศ เพื่อชักจูงนักลงทุนในต่างประเทศ โดยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ ที่มีกลุ่มนักลงทุนอุตสากรรมเป้าหมาย จัดการประชุมทางไกลร่วมกับหน่วยงานกระทรวงต่างประเทศและเอกอัครราชทูต พร้อมจัดส่งรายชื่อบริษัทและเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อชักชวนให้เกิดการลงทุนใน EEC เบื้องต้นได้ประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เจาะลึกและจัดส่งข้อมูลการลงทุนให้กับสหราชอาณาจักร 2 บริษัท สิงคโปร์ 1 บริษัท สหรัฐอเมริกา 2 บริษัท และฝรั่งเศส 2 บริษัท
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า การลงทุนใน EEC ปัจจุบันยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง และมีความคืบหน้าหลายโครงการ เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท (ณ ก.ย.63) แบ่งเป็น
- งบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 61-64 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ปี 65-67 มูลค่า 16,930 ล้านบาท
- โครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน (PPP) ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในปี 63 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ในปี 64 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท
- การออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงาน บีโอไอ มีการส่งเสริมการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ตั้งแต่ปี 60 ถึงเดือนมิ.ย. 63 รวมเป็นมูลค่าลงทุน 987,408 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (5 ต.ค. 63)
Tags: EEC, กพอ., กระทรวงต่างประเทศ, การลงทุน, คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์, บีโอไอ, สกพอ., สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก