นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงการรักษานายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า โดยทั่วไปข้อมูลรายละเอียดการรักษาถือเป็นความลับของคนไข้ แต่จากการรายงานของแพทย์ผู้ให้การรักษา และที่เผยแพร่ออกมาในวารสาร Science โดย Jon Cohen ในวันที่ 2 ต.ค.63 มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการรักษาด้วยยา Remdesivir และ antibody cocktail
ยา Remdesivir พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท Gilead Sciences เพื่อมุ่งหวังรักษาไวรัสตับอักเสบซี ต่อมามีการนำมาใช้รักษาอีโบล่า โดยยาขัดขวางการสร้าง RNA ของไวรัส ซึ่งมีฤทธิ์ต่อไวรัสหลายชนิด จึงมีการนำมาใช้ในการรักษาโควิด-19 เริ่มจากการศึกษาในประเทศจีนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ผลที่ได้ไม่แตกต่างกับยาหลอก และการศึกษาได้หยุดก่อนที่จะสิ้นสุดเนื่องจากไม่มีจำนวนผู้ป่วยมากเพียงพอ ต่อมามีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ายาสามารถลดปริมาณไวรัสลงได้และมีผลการรักษาปานกลาง ทาง FDA สหรัฐอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ยานี้ต้องฉีดเข้าเส้น ระยะเวลา 5 ถึง 10 วัน
ส่วนแอนติบอดี้ที่นำมาใช้รักษาประธานาธิบดีทรัมป์ที่กล่าวในวารสาร Science เป็นของบริษัท Regeneron เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ 2 ชนิด ที่จำเพาะต่อ Spike ใน 2 ส่วน ได้มีการศึกษาในหนูและในลิง และมีการศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 ระยะที่ 1 และ 2 จำนวน 275 คน โดยที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก เปรียบเทียบกับยาหลอก โดยให้ยาที่มีแอนติบอดี้ 2 ขนาด ขนาด 8 กรัม และ 2.5 กรัม พบว่าสามารถลดปริมาณไวรัสได้อย่างมีนัยสำคัญ และลดระยะเวลาการดำเนินโรคลงได้ ขณะนี้อยู่ในการศึกษาใช้รักษาระยะที่ 3 ในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นรวมทั้งผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับในขนาด 8 กรัม
โมโนโคลนอลแอนติบอดี้ที่ได้ ใช้หลักการสร้างขึ้นจากเซลล์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว จึงมีลักษณะจำเพาะที่จะขัดขวางการเข้าไปจับของเชื้อไวรัสกับเซลล์
หลักการดังกล่าวคล้ายกับการให้ Plasma ผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว การให้ Plasma ก็เช่นเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องให้เร็ว ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเกิน 14 วันไปแล้วร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาได้แล้ว การให้ไปจะไม่เกิดประโยชน์
Plasma จากผู้ที่หายจากโรคแล้วจะมีภูมิต้านทานต่อโควิด-19 เมื่อมีผู้มาบริจาคเป็นจำนวนมาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ก็สามารถที่จะนำพลาสมาที่มีภูมิต้านทานสูงมาผลิตในรูปแบบของเซรั่มที่มีความเข้มข้นของภูมิต้านทาน จะคล้ายกับโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ดังกล่าว แต่จะมีแอนติบอดี้หลายอย่างรวมกันเข้ามา เซรั่มที่ผลิตขึ้นมาจะเก็บได้ยาวนานกว่า แต่การจะนำมาใช้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
เซรั่มที่นำมาใช้ในการรักษาในปัจจุบัน เช่น ป้องกันการติดเชื้อไวรัส B หลังสัมผัสโรค เซรั่มที่ใช้ป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูกสุนัขบ้ากัด ก็เช่นเดียวกันการให้ภูมิต้านทานจะต้องให้ตอนที่ผู้ป่วยยังไม่มีการสร้างภูมิต้านทานเกิดขึ้น และเพื่อป้องกัน ลดจำนวนของไวรัสลง
นอกจากนี้ในวารสาร Science ยังได้พูดถึงยาที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับอยู่แล้ว ได้แก่ วิตามินดี ธาตุสังกะสี ยาลดกรด Fomatidine เมลาโทนิน และ aspirin โดยบทบาทของวิตามินดีในปัจจุบัน เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานของมนุษย์ในการกำจัดเชื้อโรค ส่วนสังกะสี มีส่วนและบทบาทในระบบเอนไซม์ของมนุษย์ และการสร้าง DNA RNA ขณะที่ยาลดกรดที่ใช้กันมากก็เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน ส่วนเมลาโทนิน ไม่ทราบว่าเพื่อต้องการให้นอนหลับ เพราะประธานาธิบดีอาจมีเรื่องต้องคิดมาก ส่วน aspirin ก็ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด จะมีการใช้มากในผู้สูงอายุอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นพ.ยง ระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกได้สนใจอาการของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นอย่างมาก โดยทั่วไปถ้าผ่านพ้นวันที่ 5 หลังมีอาการแล้วไม่มีอาการปอดบวมหรือต้องการออกซิเจน ก็น่าจะเบาใจไปได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าวันที่ 15 ต.ค.จะได้มีการดีเบตรอบ 2 หรือไม่และจะจัดกันอย่างไร เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 63)
Tags: antibody cocktail, COVID-19, remdesivir, คณะแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยง ภู่วรวรรณ, โควิด-19