กระทรวงพาณิชย์ เผย CPI เดือน ม.ค.63 ขยายตัว 1.05% Core CPI ขยายตัว 0.47% YoY
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ม.ค.63 ขยายตัว 1.05% YoY
- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ม.ค.63 ขยายตัว 0.47% YoY
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือนม.ค.63 อยู่ที่ 102.78 เพิ่มขึ้น 1.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 0.16% จากเดือนธ.ค.62
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนม.ค.63 อยู่ที่ 102.82 เพิ่มขึ้น 0.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือน ธ.ค.62
ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 104.83 เพิ่มขึ้น 1.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.41% จากเดือน ธ.ค.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.64 เพิ่มขึ้น 0.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.01% จากเดือน ธ.ค.62
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ม.ค.เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอีกครั้ง โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดอาหารสดและการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือนของหมวดพลังงาน ในขณะที่หมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
การเพิ่มขึ้นของหมวดอาหารสด เป็นไปตามสถานการณ์ทั้งอุปสงค์และอุปทานในประเทศ โดยราคาผักสดลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาผลไม้ ไข่ และเนื้อสัตว์ เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งในปีนี้เร็วขึ้นและตรงกับปลายเดือน ม.ค. ขณะที่การเพิ่มขึ้นของหมวดพลังงาน เป็นไปตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เริ่มทรงตัวและอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
การขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนในเดือนนี้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (เพิ่มรายได้) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เพิ่มการบริโภค) ในช่วงที่ผ่านมา
สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กุ้ง ปศุสัตว์) การขยายตัวของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากการบริโภคในประเทศต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
รวมทั้งการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือนของดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ ชี้ว่าแรงขับเคลื่อนเงินเฟ้อในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ของประเทศ ซึ่งเป็นสัญญานที่ดีต่อการบริหารและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน อาทิ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์เชิงพาณิชย์ รถจักรยานยนต์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และมูลค่าธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา
ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่น่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วง 2 ไตรมาสแรก แต่คาดว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไป โดยภาครัฐน่าจะสามารถลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ตามแผน และหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นก็น่าจะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดีอย่างต่อเนื่อง
น.ส.พิมพ์ชนก คาดว่า เงินเฟ้อทั้งปีจะเคลื่อนไหวที่ 0.4-1.2% โดยอาหารสดและน้ำมันจะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดเงินเฟ้อ โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับนี้ตลอดทั้งปี ทำให้มีอิทธิพลเชิงบวกในช่วงไตรมาสแรกของปี และจะมีอิทธิพลเชิงลบมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่เหลือ โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 และ 3 ในขณะที่ราคาอาหารสดน่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต
สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามปัจจัยด้านการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือ และโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 63)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค, อัตราเงินเฟ้อ, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย