นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยเตรียมหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสรุปในรายละเอียดก่อนเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 7 ต.ค.นี้
สำหรับแนวทางเบื้องต้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะเน้นให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการหรือกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความชัดเจน ถูกต้องและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อให้ผลที่ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมา จะต้องชัดเจน ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเคยทำมาแล้ว ในเรื่องบุคคลธรรมดา คลังก็พยายามออกแบบหลายมาตรการให้ถูกฝาถูกตัว เพราะเป้าหมายหลักคือต้องการดูแลเศรษฐกิจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี งบประมาณ รายจ่าย สินเชื่อ โดยที่ผ่านมาแนวโน้มเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่จะทำหลังจากนี้ต้องเริ่มทำให้ถูกฝาถูกตัว”
ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว
พร้อมระบุว่า ได้มีการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาหารือ เพื่อให้ สศค. นำแนวทางทั้งหมดไปวางแผนให้ชัดเจน เพื่อดำเนินการในระยะต่อไป ไม่เพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงระยะกลางและระยะยาวด้วยว่าควรจะมีมาตรการอะไรบ้าง เพื่อนำข้อเสนอแนะจากทุกหน่วยงานมาพิจารณาการทำมาตรการของกระทรวงการคลัง ที่ออกมาแล้วจะต้องเดินหน้าได้จริง ต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
สำหรับความกังวลปัญหาหนี้สาธารณะนั้น นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้หารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันชัดเจนว่าแผนการกู้เงินของรัฐบาลในช่วง 5 ปี จะไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศขยายตัวเกิน 60% ของ GDP โดยจากประมาณการพบว่าสูงสุดจะอยู่ที่ 57% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และกรอบความยั่งยืนทางการคลังตลอด 5 ปีจากนี้ไป ส่วนงบประมาณขาดดุลจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% ของ GDP ซึ่งใกล้เคียงกับระดับปกติที่ผ่านมาที่งบประมาณขาดดุลจะอยู่ที่ 2.8-2.9% ของ GDP
ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.67 ล้านล้านบาท ภายใต้ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2564 ที่ สศค.ประเมินว่าจะขยายตัวที่ 4-5% โดยทุกหน่วยงานยืนยันว่าสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะมีขั้นตอนและวิธีการที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าปีงบประมาณ 2564 จะเป็นปีที่ยากลำบากในเรื่องการจัดเก็บ แต่ผู้บริหารกระทรวงการคลังยืนยันการจัดเก็บรายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายแน่นอน ส่วนการเบิกจ่าย ได้พยายามเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ ทั้งรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการทั้งหมด เพื่อรักษาบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
“ไม่คุยเรื่องการปรับเป้าหมาย หรือลดเป้าหมายการจัดเก็บ ทุกอย่างต้องเดินหน้าตามเอกสารงบประมาณ ตอนนี้สิ่งที่คลังพยายามทำคือ ดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปได้ตามแผน เพราะตัวเลขรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ก็ต่ำกว่าตัวเลขการจัดเก็บจริงในปีงบประมาณ 2562 อยู่แล้ว ส่วนปีงบประมาณ 2563 คงไม่ต้องพูดถึง เพราะมีเหตุเข้ามากระทบ โดยปีงบประมาณ 2564 สศค.เองก็มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น หากเศรษฐกิจโตได้อย่างที่คิด ก็มีโอกาสและความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้ตามเป้าหมาย”
นายกฤษฎา กล่าว
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พร้อมทำงานกับทุกคนที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่ง รมว.คลัง หลังมีกระแสข่าวว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีต รมว.คมนาคม จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง พร้อมกันนี้ยังเชื่อว่าบุคคลที่จะเข้ามานั่งเป็น รมว.คลังคนใหม่เป็นบุคคลที่มีความสามารถ ซึ่งในส่วนของนายอาคมเอง ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจด้านเศรษฐกิจและใกล้ชิดกับภาคเอกชนด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 ต.ค. 63)
Tags: กระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน, กฤษฎา จีนะวิจารณะ, นายกรัฐมนตรี, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รมว.คลัง, ศบศ., สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, เศรษฐกิจไทย