นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) กล่าวว่า จากที่บริษัทได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม
กรณีเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และขอให้กลับไปใช้รูปแบบเดิมนั้น ศาลนัดไต่สวนนัดแรกในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ซึ่งตามปกติ ศาลจะมีคำสั่งหลังจากไต่สวน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งจะอยู่ช่วงเวลาก่อนที่ยื่นซองในวันที่ 9 พ.ย. 63 ตามที่รฟม.กำหนดใหม่ ซึ่งหากศาลสั่งคุ้มครองก็จะต้องหยุดกระบวนการประมูล
“การเปลี่ยนกติกา นำคะแนนเทคนิคมารวมกับคะแนนราคานั้น ทำให้เรามีโอกาสเสียเปรียบและยังเป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขหลังจากปิดขายซองไปแล้ว โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติอุโมงค์รถไฟฟ้าขนาดไม่ต่ำกว่า 5 เมตร ที่ใน TOR ระบุว่า ผลงานและประสบการณ์ในประเทศไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ”
นายสุรพงษ์ กล่าว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การประกวดราคาหาผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยังเป็นไปตามกรอบเวลา แม้เอกชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองโดยที่หากยังไม่มีคำสั่งศาลให้หยุด รฟม.ยังคงดำเนินการไปตามกระบวนการ
ทั้งนี้ รฟม.พร้อมชี้แจงในประเด็นต่างๆ และยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องและพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และประกาศของคณะกรรมการ PPP และ เงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ REQUEST FOR PROPOSAL (RFP) ข้อ 7.1 ที่สามารถออกเอกสารเพิ่มเติมได้ ขณะที่มีการขยายเวลาในการยื่นเอกสารออกไปอีก 45 วัน
ส่วนกรณีการกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค เรื่องขุดอุโมงค์นั้น ยืนยันว่า เป็นเทคนิคการก่อสร้างซึ่งเอกชนที่มีประสบการณ์ในการขุดอุโมงค์ และมีเทคนิคในการก่อสร้าง สามารถยื่นได้ทุกราย ซึ่งผู้ซื้อซองหลายรายมีประสบการณ์เรื่องอุโมงค์ ทั้ง บมจ. ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ,บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บมจ. ช.การช่าง (CK) , บ. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ TOR กำหนดว่า สามารถเป็นผู้รับเหมาช่วงได้ ไม่ต้องซื้อซองได้ ซึ่งยังมี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) ,บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง (UNIQ) ที่มีประสบการณ์ ทำอุโมงค์
“ยืนยันว่า ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีประสบการณ์หรือผลงานเป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำแต่อย่างใด โดยใน RFP เขียนว่า ผู้รับเหมาต้องมีประสบการณ์อุโมงค์รถไฟฟ้าเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เมตร นอกจากนี้ กรณีมีผลงานในประเทศไทย ไม่ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษแต่อย่างใดด้วย”
ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องนำคะแนนเทคนิคมาพิจารณาด้วย เพราะรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีโครงสร้างเป็นอุโมงค์มากกว่า 2 ใน 3 ดังนั้นจะต้องมีมาตรการความปลอดภัยทั้งในการก่อสร้างและการเดินรถ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ซึ่งในข้อเสนอด้านเทคนิคจะมี 3 เรื่อง คือ งานโยธา งานติดตั้งระบบ และการเดินรถ
โดยในการก่อสร้างแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินและลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพื้นที่อ่อนไหว อาคารเก่า พื้นที่อนุรักษ์ จึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องหาวิธีการและ เทคโนโลยีในการก่อสร้างที่ดีที่สุด เช่นกรณีผ่านพื้นที่อ่อนไหวจะใช้เทคนิควิธีพิเศษอย่างไร มีการดูแลความปลอดภัยในการเจาะใต้แม่น้ำอย่างไร หากมีปัญหา เช่น หัวเจาะติดอยู่ใต้แม่น้ำจะมีวิธีการที่จะไปกู้หัวเจาะอย่างไร
ส่วนการเดินรถนั้น จะต้องออกแบบระบบ มีอุปกรณ์และมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ เช่น กรณีเกิดไฟไหม้ จะอพยพผู้โดยสารออกจากระบบที่อยู่ใต้ดินอย่างไร เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (1 ต.ค. 63)
Tags: BTSC, CK, ITD, NWR, STEC, TOR, UNIQ, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, ขนส่งมวลชน, คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด, ช.การช่าง, ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ, ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีส้ม, รฟม., ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ, ศาลปกครอง, สุรพงษ์ เลาหะอัญญา, อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, เนาวรัตน์พัฒนาการ