นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม สายงานวาณิชธนกิจ-ด้านตลาดทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY)
เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการนำบมจ.สบาย เทคโนโลยี เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น คาดจะมีการแต่งตั้งตัวแทนการจัดจำหน่ายหุ้น IPO และกำหนดราคาเสนอขายหุ้นในสิ้นเดือนต.ค.63 และคาดหุ้นจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงต้นเดือนพ.ย.63
ทั้งนี้ สบายฯ จะเดินสายนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งคาดจะได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินต่างๆ เนื่องจากเป็นหุ้นเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) ตัวแรกของตลาดหุ้นไทย โดยสบายฯมีแผนธุรกิจที่ดีและพิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังมี Eco System ที่มีผู้ใช้มากถึง 27 ล้านทรานแซกชั่นต่อปี และมีแผนการขยายธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตอย่างสูง
สบายฯ มีทุนจดทะเบียน 1,050 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 887.98 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 887.98 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท มีกลุ่มรุจนพรพจี และ กลุ่มวีระประวัติ เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่
นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของสบายฯ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทดำเนินงานใน 4 ธุรกิจ ได้แก่
- ธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” มากกว่า 52,000 ตู้ อาทิ บริการรับชำระบิล บริการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) บริการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร และบริการรับชำระบิลสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ และซื้อสินค้า
- ธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ โดยเน้นการจำหน่ายเครื่องดื่ม, ขนม และ สินค้าต่างๆ ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้งพลัส” และ “6.11” กว่า 5,700 ตู้ ครอบคลุม 21 จังหวัด ทั่วประเทศ เช่น น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชาเขียว อาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว
รวมถึงสินค้าต่าง ๆ อาทิ หน้ากากผ้า, อุปกรณ์ Gadget, เสื้อยืดชุดชั้นใน และ MP3, CD เพลง เป็นต้น โดยมีการติดตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โรงงาน สถานศึกษา หอพัก สถานีขนส่ง สถานีบริการน้ำมัน สำนักงาน จุดกระจายและจุดโหลดสินค้า - ธุรกิจระบบศูนย์อาหาร ให้บริการติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหารทั้งระบบ Hardware และ Software และเป็นผู้ให้บริการจัดการศูนย์อาหารพร้อมการบำรุงรักษา มีศูนย์อาหารภายใต้การดูแลทั้งหมด 205 ศูนย์ ตามห้างสรรพสินค้า สำนักงาน โรงงาน สถานศึกษา อาทิ เทสโก โลตัส , Tops, โรบินสัน และ เทอมินอล 21
- ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน โดยบริษัทจะให้บริการการชำระเงิน ผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท สบาย มันนี จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งสิ้น 4 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money License) ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Payment Agent License: PA) ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร (Payment Facilitator License: PF) และ ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Fund Transfer License)
“เรามีความเข้มแข็งด้านระบบต่างๆที่พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเอง และเราเป็นบริษัทไม่ใหญ่มาก บริษัทมีสินค้าที่จะนำมาขายในตู้ได้หลายหลายไม่ต้องคำนึงถึงแบรนด์ที่จะนำเข้ามาจำหน่าย รวมไปถึงเราไม่มีต้นทุนการวางสินค้าในตู้เหมือนกับร้านค้าทำให้สินค้าราค้ามีราคาต่ำกว่า และเรายังจำหน่ายสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ชุดชั้นใน หน้ากาก และอื่นๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า”
นายชูเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ สบายฯจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15% ของทุนจดทะเบียน ให้แก่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการต่าง ๆ อาทิ โครงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service) โครงการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โครงการให้บริการระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหารและร้านค้า โครงการขยายศูนย์กระจายสินค้า ตลอดจนโครงการเพิ่มตู้ขายสินค้าอัตโนมัติซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง เพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่าง ๆ ตามกฎหมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (1 ต.ค. 63)
Tags: FinTech, IPO, mai, SABUY, การเงิน, ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ, รัฐชัย ธีระธนาวัฒน์, สบาย เทคโนโลยี, เคทีบี, เทคโนโลยี