นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการรับนักท่องเที่ยว หลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มอนุญาตให้บุคคล 6 กลุ่มสามารถเดินทางเข้าประเทศได้นั้น ประกอบด้วย
- นักกีฬาต่างชาติที่จะเข้ามาแข่งขันกีฬาจักรยานทางไกลนานาชาติ
- นักบินและลูกเรือของการบินไทย จากเที่ยวบิน Repatriation Flight
- อนุญาตให้ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราว
- กำหนดเงื่อนไขผู้ขอวีซ่าท่องเที่ยวกลุ่ม Long Stay หรือกลุ่มนักท่องเที่ยววีซ่าพิเศษ (STV)
- ผู้ถือบัตร APEC Card โดยเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย
- อนุญาตให้ผู้ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศในระยะสั้นและระยะยาว เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยกลุ่มนี้จะอยู่ได้ 30 วัน และขอต่อเพิ่มได้ 30 วัน
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เริ่มมีการตั้งคำถามว่าการกักตัว 14 วันจะเพียงพอหรือไม่สำหรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นหลังจากการกักตัว 14 วันแล้ว ไม่เคยเจอว่ามีใครติดเชื้ออีกเลย ดังนั้นการกักตัว 14 วัน จึงถือว่าเพียงพอสำหรับการดูแลผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เนื่องจากยังไม่เคยมีรายงานว่าเจอผู้ป่วยหลังจากเข้ารับการกักตัว 14 วันแล้ว สามารถเข้ามาแพร่เชื้อในประเทศใดประเทศหนึ่ง
“ที่ผ่านมา อาจสับสนว่าหลังจาก 14 วันแล้วมีการตรวจพบเชื้อ แต่การตรวจพบเชื้อ กับการติดเชื้อ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นถามว่า 14 วันสามารถป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศได้หรือไม่ ตอบว่าสามารถป้องกันได้…เราจะทำงานตามความรู้ที่มีในปัจจุบันว่า 14 วันเพียงพอ เราคงไม่ไปนั่งกังวลว่า 14 วันเพียงพอหรือเปล่า จนกว่าเมื่อไรก็ตามที่มีหลักฐานมาหักล้างว่า 14 วันไม่เพียงพอ เราจึงจะไปปรับตัวเลขอีกที”
นพ.ธนรักษ์กล่าว
ส่วนแนวคิดเรื่องการลดเวลาการกักตัวลงเหลือ 7 วันนั้น นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงยืนยันระยะเวลาการกักตัวที่ 14 วันตามเดิม เพียงแต่ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเป็นไปได้หากจะมีการลดระยะเวลาการกักตัว ซึ่งการวางแนวทางดังกล่าวนี้จะพิจารณาจากความเสี่ยงของประเทศต้นทาง มาตรการดูแลผู้เดินทางว่าสามารถให้ทำหรือไม่สามารถให้ทำอะไรได้บ้างหลังจากผ่านการกักตัว 7 วันไปแล้ว ซึ่งจะเป็นการผ่อนคลายวิธีปฏิบัติโดยที่ต้องไม่เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยืนยันว่าจะพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของคนไทยมากที่สุด
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายการปฏิบัติงานที่สำคัญ คือ การตรวจพบผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง หรือระบาดในระดับที่วิกฤติ ขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ วิถีชีวิต วิถีทางสังคม และเศรษฐกิจของประเทศด้วย
“การจะทำให้ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นเลย ไม่ใช่เป้าหมายของเรา ถ้าต้องการแบบนั้นคงต้องปิดประเทศสนิท ไม่ให้มีใครเดินทางเข้าประเทศเลย และคงมาตรการที่เข้มข้นกว่าทุกวันนี้ แต่เป้าหมายของเราคือต้องตรวจพบผู้ป่วยให้ได้เร็ว คุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด…สิ่งที่เรากำลังพิจารณาหรือทบทวนอยู่นี้ ไม่ได้พิจารณาเฉพาะมิติเรื่องความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เราดูเรื่องความปลอดภัยของคนไทยด้วย เราไม่อยากทำให้เสียสมดุล ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนการเปิดประเทศ เพื่อให้ค่อยๆ ก้าวไปอย่างมั่นคงและปลอดภัย”
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า
นพ.ธนรักษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิดว่า คาดว่าในช่วงปลายปี 63 นี้ น่าจะรู้ว่าวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการวิจัยในระยะที่ 3 มีวัคซีนตัวใดบ้างที่สามารถป้องกันโรคได้ หรือลดอัตราการป่วยลงได้ อย่างไรก็ดี แม้จะมีวัคซีนที่ปลอดภัยและได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนจะไม่มีโอกาสติดเชื้อ
“สิ่งที่วัคซีนจะช่วยเรา คือช่วยให้ไม่มีการระบาดของโควิดที่เป็นการระบาดใหญ่ในประเทศ แต่วัคซีนจะไม่ได้ป้องกันการไม่มีคนไข้ในประเทศ หมายความว่า แม้จะมีวัคซีนก็ยังมีโอกาสเจอผู้ป่วยในประเทศได้ แม้มีวัคซีนก็ยังมีโอกาสเจอการระบาดเล็กๆ ได้ แต่สิ่งที่วัคซีนให้ คือการป้องกันการระบาดใหญ่ และการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้”
รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตามที่มีความกังวลว่าไวรัสโควิด-19 มีโอกาสจะกลับมาระบาดในประเทศรอบสองหรือไม่คงต้องขึ้นอยู่กับมาตรการและความพร้อมในการป้องกันการระบาดที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ได้ แต่การพบผู้ป่วยใหม่ดังกล่าวจะไม่ได้หมายถึงการกลับมาระบาดใหม่รอบสอง ซึ่งหากสามารถจัดการกับปัญหาการระบาดได้ดีเหมือนเช่นเวียดนาม และนิวซีแลนด์ ก็อาจจะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอมีความสำคัญมาก
นอกจากนี้ การระบาดระลอกสอง ไม่จำเป็นจะต้องใหญ่หรือรุนแรงกว่าการระบาดรอบแรก ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความระมัดระวัง การเตรียมมาตรการรองรับ ความพร้อมในการป้องกันที่เข้มแข็ง และการจัดการกับสถานการณ์อย่างเหมาะสม เพื่อสามารถทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว
“การระบาดจะมีขึ้นรอบสองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความระมัดระวัง เรายังป้องกันโรคได่ดีขนาดไหน หากเรามีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มแข็ง โอกาสที่จะกลับมาระบาดระลอกสองก็จะยากขึ้น และหากเกิดขึ้นจริง ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยน้อย”
นพ.ธนรักษ์กล่าว
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของการนำเชื้อเข้ามาแพร่ในประเทศจะมีมากหรือน้อยจากการเปิดให้มีการเดินทางมาจากต่างประเทศนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เดินทางเข้ามาว่ามากน้อยเพียงใด และขึ้นอยู่กับประเทศต้นทางที่เดินทางมามีการระบาดรุนแรงมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มีการกวดขันมาตรฐานการป้องกันการแพร่เชื้อของสถานกักกันตัวของรัฐและเอกชนอย่างเข้มงวด รวมถึงในแต่ละโรงพยาบาลเอง ก็มีมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยและบุคคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างดี
“ณ ปัจจุบันจากการที่คนเดินทางทุกคนต้องเข้ารับการกักกันตัว ดังนั้นความเสี่ยงในการจะเข้ามาแพร่โรคจากกลุ่มคนเดินทางเข้าประเทศไม่ได้มีสูงมาก และประเทศไทยมีวิธีจัดการกับโอกาสการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่อยู่แล้ว”
รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 63)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ท่องเที่ยว, ธนรักษ์ ผลิพัฒน์, เปิดประเทศ, โควิด-19