นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
ซึ่งเป็นการปรับปรุงพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
การปรับปรุงครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน การห้ามปิดงานหรือการนัดหยุดงาน หลักเกณฑ์การจัดตั้งและการดำเนินงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีเนื้อหาดังนี้
- ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน เช่น
1)กำหนดระยะเวลาการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ต้องยื่นภายใน 60 วันก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลง
2)กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ทำโดยนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ซึ่งมีลูกจ้างเป็นสมาชิกเกินกว่า 2 ใน 3 ของลูกจ้างทั้งหมด มีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างทุกคน - วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน กรณีที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ดำเนินการประนอมข้อพิพาทนั้นต่อไป หรือไปเจรจาตกลงกันเอง หรือส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงานเป็นผู้ตัดสิน
- การปิดงานและการนัดหยุดงาน เช่น
1)กำหนดให้นายจ้างอาจปิดงานหรือลูกจ้างอาจนัดหยุดงานได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและอีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก่อน เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
2) กำหนดให้การปิดงานหรือการนัดหยุดงานในงานที่เป็นบริการสาธารณะ ได้แก่ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์หรือโทรคมนาคมบรรเทาสาธารณภัย ควบคุมการจราจรทางอากาศ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด โดยฝ่ายที่ปิดงานหรือนัดหยุดงาน จะต้องจัดให้มีบริการสาธารณะขั้นต่ำเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน - กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงาน ประกอบด้วย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
- ปรับอัตราโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น มาตรา 87 ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 18 หรือ มาตรา 19 (การปิดงานหรือนัดหยุดงาน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 90 ผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการสหภาพแรงงานที่ยังไม่ได้รับใบรับรองการจัดตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการจัดสัมมนาไตรภาคี เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ จาก 15 กระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 47 แห่ง และจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาในรายละเอียด ก่อนส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 63)
Tags: กระทรวงแรงงาน, ครม., จ้างงาน, รัชดา ธนาดิเรก, รัฐวิสาหกิจ, แรงงาน