นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ครั้งที่ 2/2563 ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ
โดยแบ่งเป็นเมืองอัจฉริยะ ประเภทเมืองเดิมน่าอยู่ (Livable City) จำนวน 3 โครงการ และประเภทเมืองใหม่ทันสมัย (New City) 1 โครงการ ส่วนโครงการที่เหลือ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานผู้ดำเนินโครงการฯ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการฯ และนำเสนอต่อที่ประชุมฯ ในครั้งถัดไป
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รอบที่ 1/2563 ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และการคัดกรองเบื้องต้น จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย
- โครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ กรุงเทพมหานคร โดยมี สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินโครงการ
- โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จังหวัดลำปาง โดยมี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นผู้ดำเนินโครงการ
- โครงการเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยมี บมจ. ปตท. (PTT) เป็นผู้ดำเนินโครงการ
- โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ จังหวัดภูเก็ต โดยมี สำนักงานจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินโครงการ
- โครงการโคราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครราชสีมา โดยมี สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ดำเนินโครงการ
- โครงการเมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดน่าน โดยมี เทศบาลเมืองน่าน เป็นผู้ดำเนินโครงการ
- โครงการเมืองอัจฉริยะบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมี เทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นผู้ดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ คณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้านจะต้องดำเนินการพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจาก 33 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะที่เหลือ ซึ่งผลการพิจารณาทั้งหมดจะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะที่มี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เพื่อดำเนินการพิจารณา และประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมรับตราสัญลักษณ์ในที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 63)
Tags: ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์, ดีป้า, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, เมืองอัจฉริยะ