อังกฤษได้แยกตัวอย่างเป็นทางการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. หลังจากนั้น ก็ได้เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อทำการเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ในประเด็นต่างๆ นับตั้งแต่การค้าไปจนถึงความมั่นคง
นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้รัฐสภาอังกฤษให้การอนุมัติข้อตกลง Brexit หลังจากที่สภาได้คว่ำข้อตกลงดังกล่าวถึง 3 ครั้งภายใต้รัฐบาลของนางเทเรซา เมย์
อย่างไรก็ดี อนาคตของอังกฤษไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะยังคงมีความไม่แน่นอนมากมายรอคอยอยู่ โดยอังกฤษมีเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าในการส่งออกสินค้าไปยัง EU โดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า และไม่มีการกำหนดโควตา ขณะที่ EU ยืนกรานว่าอังกฤษจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ EU และมีการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งไม่มีการส่งออกสินค้าในราคาต่ำเกินจริงเพื่อทุ่มตลาด EU
In Focus สัปดาห์นี้จะวิเคราะห์ถึงสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่อังกฤษแยกตัวจาก EU
ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน อังกฤษจะยังคงเป็นสมาชิก EU และสมาชิกสหภาพศุลกากร รวมทั้งตลาดเดี่ยวของ EU โดยอังกฤษจะยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายของ EU และต้องจ่ายเงินสมทบแก่ EU เหมือนกับประเทศสมาชิกอื่นๆ แต่จะไม่มีสิทธิส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในรัฐสภา EU หรือคณะกรรมาธิการ EU รวมทั้งองค์กรอื่นๆของ EU และไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับนโยบายของ EU ทั้งในด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ แม้ว่าอังกฤษมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 15% ของ EU และถือเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายทางทหารมากที่สุดใน EU ขณะที่กรุงลอนดอนถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก
นอกจากนี้ นายจอห์นสันจะไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ EU หากไม่ได้รับเชิญเป็นกรณีพิเศษ
ภาคการค้า
การค้าระหว่างอังกฤษและ EU จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยทั้งสองฝ่ายจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ภาษี หรือตั้งด่านตรวจสินค้า และไม่มีการเปลี่ยนแปลงต่อกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างๆของอังกฤษ แต่หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษและ EU จะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ อังกฤษจะสามารถเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆนอก EU ซึ่งรวมถึงกับสหรัฐ
อย่างไรก็ดี อังกฤษยังคงมีความขัดแย้งกับสหรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีดิจิทัล ซึ่งสหรัฐขู่ว่าจะตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีต่อรถยนต์นำเข้าจากอังกฤษ หากมีการเก็บภาษีดังกล่าว
ภาคอุตสาหกรรมการเงิน
อุตสาหกรรมการเงินของอังกฤษจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในการให้บริการต่อลูกค้าใน EU ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยธนาคาร บริษัทประกัน และบรรดาผู้จัดการกองทุนจะยังคงสามารถเข้าสู่ตลาดการเงินของ EU แต่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเร่งเจรจาทำข้อตกลงก่อนที่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้
สิทธิในการทำประมง
รัฐบาลอังกฤษระบุว่าสิทธิในการทำประมงเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่จะต้องมีการเจรจากับ EU โดยอังกฤษต้องการกลับเข้าควบคุมน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำ ขณะที่ EU จะคัดค้านเรื่องดังกล่าว โดยที่ผ่านมา EU มีกองเรือประมงที่มากกว่าของอังกฤษในการจับปลาในน่านน้ำอังกฤษ และกองเรือประมง EU พึ่งพาน่านน้ำดังกล่าวในการจับสัตว์น้ำมากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการประมงมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของเศรษฐกิจอังกฤษ ส่งผลให้ชาวประมงมีความวิตกว่ารัฐบาลอาจยอมเสียสละภาคการประมงเพื่อแลกกับการเข้าสู่ตลาดการเงินของ EU ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าถึง 70%
การเดินทางและการทำงาน
ชาวอังกฤษและ EU จะยังคงมีสิทธิในการเดินทาง, พักอาศัย และทำงานในประเทศของแต่ละฝ่ายในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ขณะที่การเดินทางโดยเครื่องบิน เรือ และรถไฟจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สิ่งอื่นๆที่จะมีการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอื่นๆที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากการที่อังกฤษแยกตัวจาก EU ได้แก่ หนังสือเดินทางของอังกฤษจะถูกเปลี่ยนจากเล่มสีแดงในปัจจุบันกลับไปเป็นสีฟ้า ซึ่งมีการใช้ตั้งแต่ปี 2464 โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในกลางปีนี้ อย่างไรก็ดี ผู้ถือหนังสือเดินทางเล่มสีแดง จะยังคงใช้ได้จนครบกำหนดอายุ
ขณะเดียวกัน มีการปิดกระทรวง Brexit ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. และเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลการเจรจากับ EU ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ช่วงเวลาเจรจาสั้นกว่า 11 เดือน
มีการเข้าใจกันโดยทั่วไปว่า อังกฤษและ EU มีเวลาเจรจากันรวม 11 เดือนในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านตั้งแต่เดือนก.พ.-ธ.ค.ปีนี้ แต่ความจริงคือทั้งสองฝ่ายมีเวลาเจรจาน้อยกว่านั้นมาก โดยการเจรจาจะยังไม่สามารถเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการจนกว่ารัฐบาลทั้ง 23 ประเทศใน EU บรรลุฉันทามติเกี่ยวกับแนวทางการเจรจากับอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมี.ค. และการเจรจาระหว่างอังกฤษและ EU จะต้องได้ข้อสรุปภายในกลางเดือนต.ค.เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการแปลเอกสารในข้อตกลงเป็นภาษาราชการของ 23 ประเทศใน EU ขณะที่รัฐสภาของประเทศสมาชิก EU จะต้องใช้เวลาในการอภิปรายและให้สัตยาบันต่อข้อตกลงที่ทำไว้กับอังกฤษก่อนสิ้นปีนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลาเจรจากันจริงๆเพียงราว 8 เดือนเท่านั้น
แค่เริ่มต้น การเจรจาก็ส่อเค้าตึงเครียด
ค่าเงินปอนด์ดิ่งลงอย่างหนักในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ ขณะที่นักลงทุนไม่มั่นใจต่อการเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและ EU ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน หลังจากที่อังกฤษได้แยกตัวออกจาก EU ในวันที่ 31 ม.ค.
นายจอห์นสันแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อ EU ว่า ในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU นั้น อังกฤษไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตามข้อกำหนดของ EU เกี่ยวกับนโยบายการแข่งขันในตลาด หรือการอุดหนุนราคาสินค้า และอังกฤษพร้อมที่จะแยกตัวจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง มากกว่าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ EU ขณะที่ EU ขู่ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษี และกำหนดโควตาต่อสินค้านำเข้าจากอังกฤษ หากอังกฤษไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ EU
ทางด้านนายมิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่าย EU กล่าวว่า EU จะไม่มีทางประนีประนอมกับอังกฤษในประเด็นระบบตลาดเดี่ยวของ EU
นายบาร์นิเยร์กล่าวว่า อังกฤษจะต้องหันมาเผชิญกับความเป็นจริง หลังจากที่ได้ประเมินต้นทุนในการแยกตัวจาก EU ต่ำเกินไป
“การออกจากตลาดเดี่ยวของ EU, การออกจากสหภาพศุลกากร EU จะต้องมีผลที่ตามมา และสิ่งที่ผมเห็นในปีที่แล้วคือ อังกฤษได้ประเมินผลกระทบเหล่านี้ต่ำเกินไป และขณะนี้เราต้องเผชิญกับความเป็นจริงแล้ว” นายบาร์นิเยร์กล่าว
นายบาร์นิเยร์เตือนว่า หากอังกฤษและ EU ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้า อังกฤษจะเผชิญความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในปีหน้า ขณะที่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ หากอังกฤษและ EU ประสบความล้มเหลวในการทำข้อตกลงก่อนสิ้นปีนี้ อังกฤษก็จะเข้าสู่ภาวะการแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง หรือ no-deal Brexit และจะทำให้การค้าระหว่างอังกฤษและ EU อยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะมีการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน และเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจมีความวิตกกังวล
ปัจจุบัน ช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวสามารถขยายออกไปเป็นเวลา 2 ปี หากได้รับความเห็นชอบจากทั้งอังกฤษและ EU
อย่างไรก็ดี นายจอห์นสันยืนยันว่าอังกฤษจะไม่ขยายระยะเวลาเปลี่ยนผ่านหลังจากสิ้นปีนี้
หายนะบังเกิด หากเจรจาล้มเหลว
ก่อนหน้านี้ EU ใช้เวลานานถึง 7 ปีในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับแคนาดา ซึ่งเป็นรูปแบบข้อตกลงที่อังกฤษต้องการได้รับจาก EU ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของ EU ส่วนใหญ่จึงไม่คาดว่าอังกฤษจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับ EU ได้ทันภายในสิ้นปีนี้ และหากนายจอห์นสันยังคงยืนยันที่จะไม่ขยายระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจากสิ้นปีนี้ ก็แทบจะเป็นที่แน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายจะประสบความล้มเหลวในการทำข้อตกลง และอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะ no-deal Brexit ซึ่งจะสร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุนทั่วโลก โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจอังกฤษหดตัว การค้าชะงักงัน และค่าเงินปอนด์ทรุดตัวลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 63)
Tags: Brexit, บอริส จอห์นสัน, สหภาพยุโรป, อียู