นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงิน Yield Curve Control กระตุ้นภาคการลงทุน พร้อมนโยบายดอกเบี้ย 0% กระตุ้นเศรษฐกิจภาคบริโภคนั้นมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้กระเตื้องขึ้นเนื่องจากมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นตามลำดับ
สำหรับการใช้นโยบายการเงิน Yield Curve Control ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางหรือระยะยาว จากนั้นจะเข้าทำการซื้อหรือขายพันธบัตรเพื่อรักษาเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งขอเสนอให้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายพันธบัตรระยะกลางอายุ 3-4 ปีที่ 0.75-1.25% และ อายุ 7 ปีถึง 10 ปี ไม่เกิน 2-2.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 1-2 ปีควรปรับลงมาไม่ให้เกิน 0.50% เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินสินเชื่อระยะ 3 ปีถึง 10 ปีของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะลดต่ำลง โดยเฉพาะต้นทุนเงินกู้ซื้อบ้านและรถยนต์จะลดลง ส่งผลกระตุ้นเชิงบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งยังคงหดตัว การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนที่ซบเซาให้กระเตื้องขึ้นได้ระดับหนึ่งและจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงาน
นอกจากนี้ Yield Curve Control ควรจะส่งผลให้ราคาทรัพย์สินทางการเงินโดยเฉพาะราคาหุ้น ค่าเงินบาท ปรับไปในทิศทางที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยราคาหุ้นน่าจะปรับตัวสูงขึ้นเกิดผลบวกต่อความมั่งคั่ง (Wealth Effect) ไปกระตุ้นภาคการบริโภคและภาคการลงทุนอีกทอดหนึ่ง ผลของการทำ Yield Curve Control ที่มีประสิทธิภาพควรทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงกระตุ้นการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ เพราะขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะเงินฝืดและมีเงินเฟ้อติดลบอยู่
“หาก ธปท.ตัดสินใจจะทำ Yield Curve Control ขอแนะนำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้ 0% หรือ 0% เสียก่อน”
นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า ธนาคารกลางบางประเทศได้เริ่มใช้นโยบาย Yield Curve Control ควบคู่กับนโยบายดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เช่น ธนาคารกลางออสเตรเลีย ธนาคารกลางอินเดีย ซึ่งมีรายงานผลในทางบวกของนโยบายดังกล่าว อีกทั้งมีงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงินของ Brookings Institution และ Huchins center on Fiscal&Monetary Policy ยืนยันว่า การใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% หรือ ใกล้ 0% ควบคู่กับการควบคุมให้อัตราดอกเบี้ยระยะกลางและระยะยาวอยู่ในระดับต่ำ (Yield Curve Control) จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น แต่อาจจะมีความเสี่ยงเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นหรือภาวะเฟ้อสบู่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการดำเนินนโยบาย Yield Curve Control ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางในการดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เปิดเผยเอกสารการทำธุรกรรมของธนาคารทั่วโลกที่มีข้อสงสัยฟอกเงินโดยมี 4 ธนาคารของไทยอยู่ด้วยว่า เป็นเรื่องที่ ธปท.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต้องดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินไทยได้ หลังวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา ธปท.เรียกขอรายงานข้อมูลธนาคารพาณิชย์แบบรายสัญญาเฉพาะธุรกรรมสินเชื่อเท่านั้น เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงในระบบสถาบันการเงินและดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีการดำเนินการได้เป็นอย่างดีตลอด ไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนธุรกรรมการโอนเงินยังไม่ได้เรียกบันทึกข้อมูลเป็นรายธุรกรรมในขณะนี้ แต่ ปปง.ต้องเป็นผู้กำกับดูแลและวิเคราะห์ความเสี่ยงเมื่อพบธุรกรรมการโอนเงินที่เข้าข่ายน่าสงสัย เช่น มีการโอนเงินปริมาณสูงมากกว่าปรกติมากๆบ่อยๆโดยไม่มีที่มาที่ไป ธุรกรรมที่น่าสงสัยอาจพัวพันการทุจริตคอร์รัปชันในระดับประเทศหรือระหว่างประเทศได้ เช่น สถาบันการเงินไทยไม่ได้ร่วมในขบวนการฟอกเงินแต่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินของกลุ่มทุจริตกองทุน 1 MDB ของมาเลเซียหรือการทุจริตคอร์รัปชันกรณีอื่นๆ หรือการทำธุรกิจผิดกฎหมายการค้ามนุษย์หรือค้ายาเสพติดได้เสมอ
ส่วนการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์และธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ มีความจำเป็นและอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาหนี้เสียที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสี่เป็นต้นไป หลายกิจการไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มเติมได้แล้วและจำเป็นต้องเพิ่มทุน หากพิจารณาในมุมของเศรษฐกิจมหภาค รัฐบาลอาจจำเป็นต้องเข้ามาเพิ่มทุนให้กับธนาคารรัฐบางแห่ง เพิ่มทุนให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วน การเพิ่มทุนต้องมีขนาดใหญ่พอและกว้างขวางพอจึงฟื้นเศรษฐกิจได้ เอกชนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศเมื่อได้รับการเพิ่มทุนแล้วต้องโอนกิจการมาเป็นของรัฐชั่วคราว
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจึงค่อยลดขนาดการถือหุ้นของรัฐหรือลดความเป็นเจ้าของของรัฐ หรือแปรรูปกิจการดังกล่าวให้เป็นเอกชนผ่านกลไกตลาด การดำเนินมาตรการเงินการคลังแบบผ่อนคลายเต็มที่จึงมีความสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยมาก มาตรการที่เสนอนี้ต้องมีเป้าหมาย มีหลักเกณฑ์ มีกลไกกำกับดูแล รวมทั้งต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่เช่นนั้นแล้วจะก่อให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกเอื้อประโยชน์อย่างมาก เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร
หากธนาคารเพิ่มทุนได้ และไม่ได้พัวพันกับธุรกรรมการฟอกเงิน ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงกลางปีหน้า การเทขายหุ้นล่วงหน้าของนักลงทุนต่างชาติและโยกเงินออกจากตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้จะชะลอลง หากไม่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคมมีความเรียบร้อยไม่มีเหตุรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ของไทยจะกระเตื้องขึ้นมากกว่าหลายประเทศจากการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำ และกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมทั้งไทยยังคงมากกว่าภูมิภาคอื่นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
นายอนุสรณ์กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 63)
Tags: Yield Curve Control, กระตุ้นเศรษฐกิจ, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย