องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จับมือ บมจ. ปตท. (PTT) เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตยาทุกรูปแบบที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญา คาดโรงงานดังกล่าวจะเริ่มผลิตปี 2570 ตั้งเป้าช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศกว่า 50%
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นเอง จะเป็นการลดภาระการนำเข้ายาจากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด มูลค่ามากกว่า 21,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้เพิ่มการเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยลดราคายาลงได้มากกว่า 50%
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวว่า ความร่วมมือพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งระหว่าง องค์การเภสัชกรรม กับ ปตท.นี้ เป็นอีกก้าวที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายการยกระดับสาธารณสุข วิทยาศาตร์เทคโนโลยี และการแพทย์ของไทย ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศให้สำเร็จเป็นรูปธรรม อีกทั้งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม เป็นองค์กรหลักด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ได้ดำเนินโครงการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง โดยดำเนินการวิจัย พัฒนา และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็งชั้นนำของโลกพร้อมทั้งมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นมาโดยเฉพาะ
โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) และกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง (Targeted Therapy) ประกอบด้วย ยาชนิดเม็ดประเภท Tyrosine Kinase Inhibitors (TKIs) ซึ่งเป็นยาชนิด small molecule สามารถแพร่เข้าเซลล์และจับกับเป้าหมายภายในเซลล์ได้โดยตรง และยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ แต่จะไปจับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์
ด้วยโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ต้องมีมาตรฐานคุณภาพการผลิตที่เป็นสากล มีมาตรฐานความปลอดภัยและต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง อภ. กับ ปตท. จึงได้ร่วมกันดำเนินการศึกษาและออกแบบโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ โรงงานแห่งนี้สามารถรองรับและต่อยอดงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า โรงงานผลิตยารักษามะเร็งนี้ จะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. หรือ PTT WEcoZi อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งขั้นตอนต่อไปในการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขั้นละเอียด (Detailed Feasibility Study) คาดว่าใช้เวลาประมาณ 14 เดือนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะทำการสรุปผลการศึกษาและประเมินแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อไป โดยมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในปี 2565 เพื่อให้สามารถทำการวิจัยพัฒนาและผลิตยารักษาโรคมะเร็งเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570
โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งนี้ เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของ ปตท. ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามพันธกิจ “Powering Thailand’s Transformation” ที่มุ่งเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ทุกภาคส่วน มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อประเทศในการช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ และลดการพึ่งพิงการนำเข้ายารักษาโรคจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ โครงการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งนี้ ยังตอบสนองนโยบายของประเทศในทุกภาคส่วนทั้งในด้านยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง” ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาและเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และชีวภาพที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดต้นทุนการรักษาพยาบาลและยกระดับการให้บริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพในระดับสากล และปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุข
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ปตท.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงงานที่คาดว่าจะมีมูลค่าราว 2.5 พันล้านบาท และช่วยบริหารจัดการในระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่องค์การเภสัชกรรม จะเป็นผู้ศึกษาและเลือกเทคโนโลยี และชนิดของยาในการผลิต หลังจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะส่งมอบให้กับองค์การเภสัชฯเป็นผู้บริหารจัดการต่อไป โดยองค์การเภสัชฯ ก็จะทยอยคืนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างในรูปแบบของเค่าเช่าให้กับปตท. ทั้งหมดต่อไป
สำหรับโรงงานผลิตยาจะเริ่มก่อสร้างในปี 65 โดยมีการผลิตยา 80 ชนิด กำลังการผลิตราว 30 ล้านยูนิต/ปี และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 67 แต่ยังต้องใช้เวลาการยื่นขอจดทะเบียนยา ทำให้คาดว่าจะสามารถผลิตยาในเชิงพาณิชย์ได้ในราวปี 70 สำหรับความร่วมมือในอนาคตก็อาจจะมีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทำการตลาดซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่จะครอบคลุมภูมิภาค เพราะมีกำลังการผลิตค่อนข้างมาก หากสามารถทำตลาดได้มากขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงด้วย ซึ่งเบื้องต้นทางองค์การเภสัชฯจะเป็นผู้ทำการตลาดในประเทศ ส่วนปตท.จะช่วยทำการตลาดในต่างประเทศ
“นโยบายเรื่อง Medical hub ปตท.มีศักยภาพที่สามารถช่วยได้ เรื่องนี้ก็จะส่งผลดีต่อประเทศเบื้องต้นมีความร่วมมือกันเป็นระยะ ๆ ปตท.มีความเชี่ยวชาญเรื่องวิศวกร เคมี การดำเนินการครั้งนี้ก็มีส่วนร่วมที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงยารักษามะเร็งได้มากขึ้น”
นายอรรถพล กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 63)
Tags: PTT, ปตท., ยารักษามะเร็ง, วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, องค์การเภสัชกรรม, อนุทิน ชาญวีรกูล