สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารชี้แจงข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง จำนวน 32 พรรคการเมือง ตามที่ปรากฏข่าว
กรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมือง จำนวน 32 พรรคการเมือง ที่กู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมืองแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 72
กกต.ระบุว่า จากการตรวจสอบงบการเงินของทุกพรรคการเมืองนับแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว พบว่ามี 3 พรรคที่มีงบการเงินประจำปี 2561 ปรากฏรายการกู้ยืมเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท ได้แก่
- พรรคภูมิใจไทย มียอดเงินกู้ยืม 30 ล้านบาท
- พรรคประชากรไทย 12 ล้านบาท
- พรรคเพื่อไทย 13 ล้านบาท
ทั้งนี้ พรรคการเมืองดังกล่าวกู้ยืมเงินมาตั้งแต่ปี 2555 และยังไม่มีการใช้เงินคืน ซึ่งเป็นยอดหนี้คงค้างไว้ในงบการเงินประจำปี 2561 และในแต่ละปี แต่เป็นยอดเงินกู้ยืมจากผู้ให้กู้ยืมไม่เกินคนละ 10 ล้านบาทต่อปี จึงไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 72
กกต.ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวทางเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ของพรรคการเมืองตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 ดังนี้ว่า สถานะของเงินกู้ยืม ไม่ใช่รายได้ของพรรคการเมือง แต่เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการ เกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ภายในขอบเขต ที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 กำหนดห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี นอกจากนี้ มาตรา 72 กำหนดให้การรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ไม่ว่าจะจำนวนเท่าใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 63)
Tags: กกต., พรรคการเมือง, พรรคประชากรไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคเพื่อไทย, ศาลรัฐธรรมนูญ, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, เงินกู้