ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลทักษิณ 2 กับพวกรวม 14 คน เป็นจำเลย โดยสั่งจำคุก
- นายวัฒนา จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 99 ปี จากความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 กำหนดอัตราโทษสูงสุด 50 ปี
- ส่วนจำเลยที่ 4 นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ ตัดสินจำคุกรวม 66 ปี จากความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี แต่ตามมาตรา 91 กำหนดโทษสูงสุด 50 ปี
- จำเลยที่ 5 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง ตัดสินจำคุกรวม 20 ปี จากความผิด 5 กระทง กระทงละ 4 ปี
- จำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ตัดสินจำคุกรวม 44 ปี จากความผิด 11 กระทงๆละ 4 ปี)
- จำเลยที่ 7 น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ ตัดสินโทษจำคุก 32 ปี จากความผิด 8 กระทง กระทงละ 4 ปี
- จำเลยที่ 8 บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เป็นโทษปรับ เป็นจำนวนเงิน 270,000 บาท
- จำเลยที่ 10 คือ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ให้นับโทษต่อจากศาลจังหวัดพัทยา
นอกจากนี้ ศาลยังสั่งให้ริบทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิดในโครงการทุจริตบ้านเอื้ออาทร ในส่วนของ
- จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 และ จำเลยที่ 8 รวม 1,323 ล้านบาท
- จำเลยที่ 5 จำนวน 763 ล้านบาท จำเลยที่ 7 จำนวน 1,056 ล้านบาท
- จำเลยที่ 10 จำนวน 40 ล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการชำระภายใน 30 วัน หากไม่เป็นตามนี้จะต้องถูกคิดดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ส่วนจำเลยที่ 2 นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จำเลยที่ 3 นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บมจ. ปริญสิริ (PRIN) จำเลยที่ 9 บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด จำเลยที่ 11-14 บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด และ น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน ศาลฯมีคำสั่งยกฟ้อง
ขณะนี้นายวัฒนา ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนยื่นประกันตัวและเตรียมยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
ก่อนหน้านี้ นายวัฒนา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ชี้ให้เห็นว่ากติกาและกระบวนการทั้งหมดของโครงการไม่ถูกต้องชอบธรรม ตรงกันข้ามกลับมีหลักฐานแสดงความถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลและประสิทธิผลของโครงการ การอนุมัติโครงการและรับซื้อโครงการดำเนินการอย่างถูกต้องทุกหน่วย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจึงหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทุกคน และไม่มีการรับผลประโยชน์หรือเส้นทางการเงินใดๆ เชื่อมโยงมาถึงตนเองหรือเจ้าหน้าที่รัฐคนใด
“ผมจึงมาศาลด้วยความมั่นใจทั้งในความบริสุทธิ์ของตนเอง และความยุติธรรมของศาลตลอดเวลาที่ผ่านมาแม้กระทั่งเมื่อเช้ามีคนส่งข่าวให้หนี เพราะคำตัดสินจะออกมาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ผมก็ยืนยันที่จะมาอยู่ที่นี่ เพราะหากจะทำลายกันถึงขั้นนั้นจริงก็อยากจะได้มารู้มาเห็นด้วยตนเองว่าบ้านเมืองเราจะเป็นไปได้ถึงเพียงนั้น
โครงการนี้เป็นโครงการที่ผมภูมิใจ เพราะไม่เพียงทำด้วยความสุจริตโปร่งใส แต่ยังมีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจมันคือยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่คนไทยไม่เคยได้สัมผัสอีกหลังการรัฐประหารปี 2549 และตกต่ำมากที่สุดหลังรัฐประหารปี 2557 หากคำตัดสินจะเป็นเช่นนั้นจริง ผมจะขอใช้สิทธิประกันตัวเพื่ออุทธรณ์ เพราะเป็นคนทำคดีนี้ด้วยตนเอง”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 63)
Tags: PRIN, กรองทอง วงศ์แก้ว, คดีทุจริต, ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป, บ้านเอื้ออาทร, ปกรณ์ อัศวีนารักษ์, ปริญสิริ, พรพรหม วงศ์พิวัฒน์, พรินซิพเทค ไทย, พาสทิญ่าไทย, มานะ วงศ์พิวัฒน์, รัตนา แซ่เฮ้ง, รุ่งเรือง ขุนปัญญา, วัฒนา เมืองสุข, ศาลฎีกา, สุภาวิดา คงสุข, อภิชาติ จันทร์สกุลพร, เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง, เสี่ยเปี๋ยง