นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวว่า ยังไม่เห็นด้วยกับญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ โดยเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มี สภายกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ส่วนร่างแก้ไขรายมาตรานั้นในหลักการพอรับได้ แต่รายละเอียดที่เสนอมายังทำใจให้รับไม่ได้ บางเรื่องยังไม่เหมาะสม บางเรื่องอาจสร้างปัญหาตามมาในภายหลัง
“ผมพิจารณาเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดว่าต้องคำนึงถึงเหตุผล ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ไม่เอาผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ได้อยู่ใต้อาณัติ ความครอบงำ หรือความโน้มเอียง ผมจึงไม่ได้หวั่นไหวทั้งเสียงเชียร์และเสียงแช่ง แต่จะพิจารณาไปตามเหตุและผลที่ควรจะเป็น”
นายถวิล กล่าว
นายถวิล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่จะแก้ไขปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นอย่าไปคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ไขปัญหาให้เราได้ทุกอย่าง ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดเมื่อปี 40 แต่ในที่สุดก็ไปไม่ได้ เพราะผู้ใช้บิดเบือนทุกเรื่องที่ไม่ได้ห้ามเอาไว้
“พร้อมๆ กับการมีรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีผู้ใช้ที่ดีด้วย ถ้ารัฐธรรมนูญดีแต่คนใช้ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีความละอาย ไม่เกรงกลัวต่อบาป รัฐธรรมนูญดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ บางทีคิดว่าควรแก่ที่นิสัยไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญ”
นายถวิล กล่าว
นายถวิล กล่าวว่า ถึงแม้จะแก้ได้ยากก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็สามารถแก้ได้ ความจริงอยู่ที่การแก้ไขมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลเพียงพอแก้ยากแค่ไหนก็แก้ได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอแก้ง่ายแค่ไหนก็แก้ไม่ได้
“อย่าว่าแต่ 84 เสียง หรือหนึ่งในสามเลย ท่านจะเอาทั้ง 250 เสียงก็ย่อมเป็นไปได้ ถ้าประเด็นของการแก้ไขนั้นมีเหตุผลมีประโยชน์ต่อประชาชน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่พวกเราถูกกล่าวหา เรียกว่าได้ทั้งหมดถ้าสดชื่น”
นายถวิล กล่าว
นายถวิล กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 256 ต้องไปทำประชามติรับฟังเสียงจากประชาชนก่อน ตามกระบวนการต้องจัดทำถึงสามครั้ง ใช้งบประมาณมากถึง 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความขัดแย้ง และมีปัญหาอีกมากมาย
ด้าน พล.ต.ท.ศานิต มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตามลำดับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แม้จะยกย่องว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่มี 318 มาตราจะได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด แต่พอมาถึงปี 50 ก็มีการแก้ไขอีกครั้งเหลือ 308 มาตรา และล่าสุดเมื่อปี 60 เหลือ 279 มาตรา จึงอยากขอให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกันพิจารณาด้วยเหตุผลถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเพื่อประโยชน์ของใคร
“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนเย็นนี้จะตัดสินใจว่าจะสนับสนุนแนวทางไหน ผมอยากฟังเหตุผลของสมาชิกถึงความจำเป็นในการแก้ไขว่าจะเกิดประโยชน์กับใคร”
พล.ต.ท.ศานิต กล่าว
พล.ต.ท.ศานิต กล่าวว่า ความผิดพลาดเกี่ยวกับการนับคะแนนเลือกตั้งที่เกิดขึ้นสามารถไปแก้ไขที่กฎหมายลูก ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอยากฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการให้ช่วยดูเนื้อหาในบทเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เพราะเด็กยุคใหม่ไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าบรรพบุรุษในอดีตสร้างวีรกรรมอะไรไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 63)
Tags: ถวิล เปลี่ยนศรี, วุฒิสภา, ศานิต มหถาวร, ส.ว., ส.ส.ร., สภายกร่างรัฐธรรมนูญ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ