In Focus: ทำความรู้จัก “บรูเซลโลซิส” จีนพบติดเชื้อแล้วกว่า 3 พันคนหลังหลุดจากแล็บอีกแล้ว

โควิดยังไม่ทันหาย “บรูเซลโลซิส” ก็เข้ามาแทรก ที่ต้องจั่วหัวข้อแบบนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสุภาษิตไทยที่ว่า ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เพราะขณะที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับสารพัดปัญหาจากโรคโควิด-19 ที่เชื่อกันว่ามีต้นตอมาจากประเทศจีนนั้น ก็พบว่าเกิดโรคระบาด “บรูเซลโลซิส” (Brucellosis) ขึ้นมาอีก ซึ่งจนถึงขณะนี้ทำให้ชาวจีน 3,245 รายติดเชื้อและล้มป่วยที่เมืองหลานโจว มณฑลกานซู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการด้านสุขภาพของเมืองหลานโจวได้ออกมายืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า โรคบรูเซลโลซิสที่แพร่ระบาดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วนั้น เกิดจากการรั่วไหลของก๊าซเสียที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคบรูเซลโลซิสจากบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์แห่งหนึ่งของจีน

บรูเซลโลซิสไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ และไม่ได้มีพิษสงร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตเหมือนกับโรคโควิด-19 แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โรคนี้อาจกลายเป็นโรคระบาดไปทั่ว หากไม่มีการควบคุมและป้องกันอย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์แล้ว ยังอาจจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากต้องมีการฆ่าทำลายสัตว์ที่ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งก็จะกระทบต่ออุปทานเนื่อและผลิตภัณฑ์ของสัตว์ที่ติดเชื้อตามมา

In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับโรคบรูเซลโลซิสว่า โรคนี้เกิดจากอะไร และจะมีผลต่อกระทบต่อพวกเราอย่างไร

ต้นตอของโรคบรูเซลโลซิส และการแพร่เชื้อ

บรูเซลโลซิสเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า “บรูเซลลา” (Brucella) ที่มักพบในฟาร์มปศุสัตว์ และสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ โดยในวงการปศุสัตว์มักเรียกโรคนี้ว่า “โรคแท้ง” หรือ “โรคแท้งติดต่อ” เพราะสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการแท้งลูกในช่วงท้ายของการตั้งท้อง ซึ่งสัตว์ที่มักพบว่าติดเชื้อโรคนี้ได้แก่ แกะ, วัว, ควาย, แพะ, สุกร และสุนัข

ส่วนคนสามารถติดเชื้อโรคนี้ได้จากการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ, การสูดเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจ หรือการรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียนี้

อาการป่วยของคนที่ติดเชื้อบรูเซลโลซิส

โรคบรูเซลโลซิสที่ติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คนนั้นทำให้เกิดโรคที่เรียกกันว่าไข้มอลต้า (Malta fever) หรือไข้เมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean fever) โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, เป็นไข้ และอ่อนเพลีย ขณะที่ยังไม่มีรายงานการพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้

ศาสตราจารย์ซู กั๋วเฉียง จากวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยหยางโจวของจีนเปิดเผยกับเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ว่า ในกรณีที่ร้ายแรงนั้น โรคบรูเซลโลซิสอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ได้

“หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ชายที่ติดเชื้อโรคนี้อาจกลายเป็นหมัน”

ศาสตราจารย์ซูกล่าว

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อบางคนอาจมีอาการเรื้อรังและรักษาไม่หาย เช่น ไขข้ออักเสบ หรือมีอาการบวมที่อวัยวะบางส่วน

CDC เปิดเผยด้วยว่า ยังไม่พบกรณีการแพร่เชื้อบรูเซลโลซิสจากคนสู่คน ซึ่งส่วนใหญ่คนมักติดเชื้อนี้จากการรับประทานอาหารจากผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือสูดหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ซึ่งเหมือนกับกรณีการแพร่ระบาดที่เมืองหลานโจวของจีน

การแพร่ระบาดล่าสุดของโรคบรูเซลโลซิสในจีน

คณะกรรมการด้านสุขภาพของเมืองหลานโจว มณฑลกานซู่ของจีนเปิดเผยเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า การแพร่ระบาดของโรคบรูเซลโลซิสในเมืองหลานโจวนั้นเกิดจากการรั่วไหลของก๊าซเสียที่ปนเปื้อนเชื้อโรคดังกล่าวจากโรงงานชีวเภสัชภัณฑ์ซองมู หลานโจว (Zhongmu Lanzhou) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.ปีที่แล้ว

ขณะที่โรงงานดังกล่าวทำการผลิตวัคซีนบรูเซลลา (Brucella) ที่ใช้สำหรับสัตว์นั้น ทางโรงงานได้ใช้สารฆ่าเชื้อและน้ำยาฆ่าเชื้อที่หมดอายุแล้ว จึงทำให้แบคทีเรียบรูเซลลาไม่ได้ถูกกำจัดจนหมดจากก๊าซเสียที่รั่วไหลออกจากโรงงานดังกล่าว

ก๊าซเสียที่ปนเปื้อนเชื้อบรูเซลโลซิสได้ก่อตัวเป็นละอองลอยและรั่วไหลไปในอากาศ โดยถูกกระแสลมพัดพาไปจนถึงสถาบันวิจัยสัตวแพทย์ในเมืองหลานโจวซึ่งได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคขึ้นเป็นที่แรก

คณะกรรมการด้านสุขภาพเมืองหลานโจวเปิดเผยว่า ในช่วงหลายเดือนต่อมาหลังจากที่มีการแพร่ระบาดนั้น เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและเทศบาลได้เริ่มทำการสอบสวนการรั่วไหลของก๊าซปนเปื้อนเชื้อบรูเซลโลซิสที่โรงงานดังกล่าว

ในเดือนม.ค.ปีนี้ ทางการจีนได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตผลิตวัคซีน และถอนหมายเลขการอนุมัติผลิตภัณฑ์สำหรับวัคซีนบรูเซลโลซิส 2 ตัวของโรงงานดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการยกเลิกหมายเลขการอนุมัติผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ทั้งหมด 7 รายการของโรงงานดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ทางโรงงานได้ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนจีนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และเปิดเผยว่าได้ทำการลงโทษอย่างรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ของโรงงานจำนวน 8 คนที่ถูกตัดสินว่าต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว

การวิจัยด้านระบาดวิทยา

โรคบรูเซลโลซิสพบว่าเคยมีการแพร่ระบาดในทุกประเทศของโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน (ยุโรปและแอฟริกา), ตะวันออกกลาง, แอฟริกา, เอเชียกลาง, อเมริกากลางและใต้, อินเดีย, เม็กซิโก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งแหล่งโรคและสายพันธุ์ของเชื้อจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

โรคบรูเซลโลซิสมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานในฟาร์ม, สัตวแพทย์ และคนงานโรงฆ่าสัตว์ ด้วยเหตุนี้จึงพบโรคนี้ได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคและการระบาดได้แก่ การบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ปนเปื้นเชื้อโรคนี้

ในประเทศไทยนั้น พบโรคบรูเซลโลซิสเป็นครั้งแรกในสุกรตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 และสำนักระบาดวิทยาได้สอบสวนผู้ป่วยโรคบรูเซลโลซิสรวม 7 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่พบโดยบังเอิญ 3 รายและอีก 4 รายเป็นผู้ป่วยจากการเฝ้าระวังเชิงรุกในระหว่างการสอบสวนโรค โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ และชำแหละสัตว์ อาทิ สุกรและแพะเป็นต้น โดยมีประวัติสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง รก และลูกสุกรหรือลูกแพะที่แท้งโดยไม่ใส่ถุงมือป้องกัน หรือทำการชำแหละเนื้อสัตว์แล้วนำมารับประทานแบบสุกๆ ดิบๆ

อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงทำให้เรารู้จักกับโรคบรูเซลโลซิสกันแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้น่ากลัวเหมือนกับโรคโควิด-19 แต่ถึงแม้โรคบรูเซลโลซิสจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้คนที่ติดเชื้อเสียชีวิต อีกทั้งยังมีวัคซีนป้องกันสำหรับสัตว์และมียารักษาคนที่ป่วยเพราะโรคนี้ได้ แต่เราก็ควรป้องกันตัวเองจากโรคนี้ด้วยการรับประทานอาหารจากผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์หรือทำให้สุกด้วยความร้อน ด้านผู้เลี้ยงสัตว์ก็ต้องป้องกันสัตว์ติดเชื้อโดยการเจาะเลือดตรวจโรคดังกล่าวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ขณะที่ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์คงต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองจากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง เช่น การใส่ถุงมือ และล้างมือให้สะอาดภายหลังจากที่สัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือซากสัตว์ รวมทั้งการทำความสะอาดด้วยการฆ่าเชื้อโรคในสถานที่เลี้ยงสัตว์อยู่เป็นประจำด้วย … Stay Safe! ขอให้ทุกท่านปลอดภัยจากบรูเซลโลซิส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top