ตัวแทนกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และเครือข่าย เช่น คณะประชาชนปลดแอกและกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า นัดเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเตาปูนเพื่อนำรายชื่อ 100,732 รายชื่อไปยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขาธิการประธานสภา ผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนรับมอบและมีส.ส. พรรคก้าวไกล อาทิ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายรังสิมันต์ โรม นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รวมถึงนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปรัฐบาล มาร่วมเป็นสักขีพยาน โดยกลุ่ม iLaw เรียกร้องให้บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้เท่านั้น
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐสภาไม่เคยให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายของภาคประชาชน ซึ่งครั้งนี้จะรอดูท่าทีว่า รัฐสภาจะให้ความสำคัญกับ 100,732 รายชื่อหรือไม่ ที่ผ่านมาประชาชนสู้ด้วยสันติวิธีไม่เคยใช้ความรุนแรง มีแต่ประชาชนที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาตลอด
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยืนยันว่า จะเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเต็มที่ โดยเจตนารมย์สอดคล้องกับทางกลุ่ม iLaw พร้อมเตรียมเสนอให้ภาคประชาชนมาร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 2-3
สำหรับประเด็นหลักๆ ที่กลุ่ม iLaw และเครือข่ายเสนอให้แก้ไข มีทั้งประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น รวมทั้งที่มาของสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ขณะเดียวกันเสนอเปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มี ส.ส.ร. 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ กลุ่มมวลชนได้ตั้งเวทีปราศรัยชั่วคราวด้านประตูทางเข้าอาคารรัฐสภา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูทางเข้า2 ช่องทาง โดยเปิดให้เข้าภายในรัฐสภา 1 ช่องทาง ออกจากรัฐสภา 1 ช่องทาง ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภาเข้ม โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลบางโพมาดูแลความเรียบร้อย แต่ไม่มีการปิดการจราจรถนนหน้ารัฐสภาแต่อยางใด ทั้งนี้หลังยื่นหนังสือแล้วกลุ่มมวลชนได้ทยอยแยกย้ายเดินทางกลับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวปราศรัยก่อนส่งมอบรายชื่อว่า วันนี้เป็นก้าวแรกของภาคประชาชน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการของรัฐสภา คือ ลักไก่ล็อกสเปคสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) จากข้อเสนอพรรคร่วมที่เสนอแก้มาตรา 256 จึงขอให้จับตารัฐสภาว่าจะผ่านโหวต ส.ส.ร.หรือไม่
นอกจากนี้ ลักไก่ที่ 2 คือไม่มีการแตะเรื่องที่มา ส.ว. หรือปล่อย ส.ว. ลอยนวล หากมาตรา 272 ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ส.ว.ในโหวตเลือกนายกรัฐมนตรียังมีก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะจับตาดูว่าการพิจารณาของรัฐสภา 2 วันนี้จะมีประเด็นใดถูกแก้หรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 63)
Tags: iLaw, กฎหมาย, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, จอน อึ้งภากรณ์, ชวน หลีกภัย, ประชาชนปลดแอก, พรรคก้าวไกล, พริษฐ์ วัชรสินธุ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, รังสิมันต์ โรม, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, สภาผู้แทนราษฎร, สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล, สุทิน คลังแสง, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร, แก้ไขรัฐธรรมนูญ, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน