บมจ.เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว ยื่นไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 27,741,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 27.00 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ และมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นในครั้งนี้
วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้สร้างศูนย์ให้บริการด้านเทคนิค (Technical Support Center), การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ (Cybersecurity), การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยหลักแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน เป็นธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ (Cybersecurity) ให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Vendor) ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกหลายราย โดยผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายสามารถจำแนก เป็น 4 ประเภท ได้แก่
- ระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ผู้ใช้งานโดยตรง (End Point Security)
- ระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่าย (Network Security)
- ระบบการบริหารจัดการประสิทธิภาพ (Network Performance and Monitoring)
- ระบบหรือซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่บริษัทฯ จำหน่าย (Others) ได้แก่
– ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption Solution)
– ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันและระบุตัวตน (Authentication)
– ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูล (Archiving) เป็นต้น
โดยจากรายได้จากการขายของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 60-62 มีมูลค่า 450.57 ล้านบาท 553.34 ล้านบาท 623.00 ล้านบาท ตามลำดับ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 17.59
นอกจากนี้ ธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย นั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลติดตั้ง ฝึกอบรม ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ มีการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสามารถแบ่งประเภทการให้บริการออกได้ 3 ประเภท ดังนี้
- การให้บริการติดตั้ง (Installation Service)
- การให้บริการฝึกอบรม (Training Service)
- การให้บริการบำรุงรักษาระบบ (Maintenance Service)
ผลดำเนินงานงวด 6 เดือนปี 2563 รายได้จากการขาย 308.78 ล้านบาท ต้นทุนขายหรือการให้บริการ 248.57 ล้าบาท กำไรสุทธิสำหรับงวด 8.69 ล้านบาท ด้านสินทรัพย์รวม 300.40 ล้านบาท หนี้สินรวม 151.13 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 149.27 ล้านบาท
รายได้จากการขายและให้บริการของบริษัทฯ ในปี 2560 – ปี 2562 เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 17.19 โดยรายได้หลักของบริษัทฯ มาจากรายได้จากการขายระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่าย (Network Security) รองลงมาเป็นรายได้จากการขายระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ผู้ใช้งานโดยตรง (End point security) และระบบการบริหารจัดการประสิทธิภาพ (Network performance & monitoring) โดยแต่ละปีบริษัทฯ ได้รับปัจจัยบวกจากการที่องค์กรต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล แผนการบังคับใช้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่คาดว่าจะมีผลบังคับในปี 2564 ส่งผลให้บริษัทฯ มีฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับโอกาสให้ทำงานโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น
สำหรับในงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 8.69 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 10.09 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1.39 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 13.80 เนื่องจากบริษัทฯ มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจำนวน 11.54 ล้านบาท จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในไตรมาส 1 ปี 2563
โครงการในอนาคต บริษัทฯ มีแผนการลงทุนดังนี้ การสร้างศูนย์ให้บริการด้านเทคนิค (Technical Support Center) และขยายทีมบุคลากรในฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการให้กับลูกค้า และใช้ในการสาธิตการทำงานของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้ลูกค้ามีความรู้ ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ และสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำนักงานของบริษัทฯ ปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ที่โครงการเดอะซิงโครไนซ์ ซอยรัชดาฯ 18 มีพื้นที่ไม่เพียงพอ บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเช่าอาคารเพิ่มเติมเพื่อที่จะรองรับแผนการดังกล่าว บริษัทฯ คาดว่าศูนย์บริการด้านเทคนิคจะมีพื้นที่ใช้สอยโดยรวมประมาณ 300-400 ตารางเมตร เพื่อปรับปรุงอาคารเช่า และจัดหาอุปกรณ์ตกแต่ง อุปกรณ์สำนักงาน และอุปกรณ์ทางด้าน Cybersecurity ต่างๆ โดยบริษัทฯ คาดว่าการปรับปรุงอาคารจะแล้วเสร็จ และสามารถใช้งานได้ภายในไตรมาส 4/64
การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Cybersecurity โดยบริษัทฯ มีแผนมุ่งเน้นพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Cybersecurity ที่จะช่วยในการเชื่อมต่อโซลูชั่นของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย เข้ากับระบบต่างๆ ของลูกค้า เช่น ระบบการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้งานได้เหมาะสมกับบริบทของลูกค้าและประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทฯ อาจมีการร่วมมือกับบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยอาจรวมถึงการขายซอฟท์แวร์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ (White Label) ตลอดจนการซื้อทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์ โดยบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนาซอฟท์แวร์ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
การลงทุนในธุรกิจที่ต่อยอดสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ตลอดจนการลงทุนในบริษัทที่มีฐานลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยทำให้บริษัทฯ สามารถก้าวสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Technology) ชั้นนำในระดับภูมิภาคได้อย่างแท้จริง โดยนโยบายในการพิจารณาการลงทุนของบริษัทฯ มีแนวทางเป็นไปเพื่อการต่อยอดสร้างการเติบโตของธุรกิจที่เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทฯ ดังต่อไปนี้ เป็นไปเพื่อให้บริษัทฯ เพิ่มความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าองค์กรด้านเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, เป็นไปเพื่อให้บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Technology) ,
เป็นไปเพื่อให้บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้สามารถต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Technology) ของบริษัทฯ และความสัมพันธ์ที่บริษัทฯ มีกับกลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ชั้นนำระดับโลก เช่น การลงทุนเพื่อควบรวมธุรกิจตัวแทนจำหน่ายในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเมียนมา ประเทศลาว ประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความต้องการผลิตภัณฑ์การรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยี (Cyber Security) ที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในธุรกิจที่ต่อยอดสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ภายในไตรมาส 4/65
บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 52,970,500 บาท โดยเป็นหุ้นสามัญจำนวน 105,941,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และมีทุนที่เรียกชำระแล้ว 37,500,000 บาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 75,000,000 หุ้น โดยภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทฯจะมีทุนชำระแล้วเพิ่มเป็น 51,370,500 บาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 102,741,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ณ วันที่ 9 ก.ย.2563 ประกอบด้วย
- กลุ่มนามสกุลล้วนจำเริญ ถือหุ้น 20,888,460 หุ้น คิดเป็น 27.85% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 20.33%
- กลุ่มนามสกุลเนียมนามธรรม ถือหุ้น 17,090,560 หุ้น คิดเป็น 22.79% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 16.63%
- บริษัท มอซ เซกูโร จำกัด ถือหุ้น 25,023,840 หุ้น คิดเป็น 33.37% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 24.36%
- ฮัตสัน เอเชีย โฮลดิ้งส์ พีทีอี แอลทีดี ถือหุ้น 11,997,140 หุ้น คิดเป็น 16% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 11.68%
บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการ ภายหลังหักภาษี และเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 63)
Tags: Cybersecurity, IPO, mai, การรักษาความปลอดภัย, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, หยวนต้า, หุ้นสามัญ, เทคโนโลยีไซเบอร์, เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว, ไฟลิ่ง