นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือเรียกร้องต่ออธิบดีกรมศิลปากรในช่วงเช้าวันนี้ให้ดำเนินการเอาผิด 18 แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมืองฝ่าฝืนกฎหมายบุกรุกเข้าใช้สนามหลวงซึ่งเป็นโบราณสถานโดยไม่ได้ขออนุญาต และมีการตัดทำลายรั้วและพื้นสนามหลวงเพื่อปักหมุดคณะราษฎร 2563 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการให้เกิดความเสียหาย
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า สนามหลวง ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2520 มีชื่อว่า “โบราณสถานทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง)” ซึ่งตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 32 ระบุไว้ว่าผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือ ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และโทษของการบุกรุกและทำลายโบราณสถานจะหนักขึ้นเป็น จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าโบราณสถานแห่งนั้นเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว
ดังนั้น การตัดทำลายรั้วเพื่อนำมวลชนบุกรุกเข้าไปตั้งเวทีชุมนุมปราศรัย และเจาะพื้นสนามหลวงให้เสียหาย โดยทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ลงในพื้นที่สนามหลวงที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมืองจึงถือเป็นกรรมหนักที่จะปล่อยให้ลอยนวลต่อไปไม่ได้
นอกจากนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการใช้ บำรุงและการดูแลพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ.2555 เพื่อให้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเพื่อการจัดงานได้เพียง 4 ประเภทเท่านั้น คือ งานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติโดยหน่วยงานของรัฐ และการจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี โดยห้ามการแสดงกิจกรรมหรือข้อความหรือการกระทำด้วยประการใดที่ไม่เหมาะสม ขัดกฎหมาย หรือในลักษณะเป็นการดูหมิ่นชาติ ศาสนาหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหรือของประเทศอื่น รวมทั้งต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีและประเพณีไทย และการจัดงานต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่าด้วยประการใด และไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ด้วยเหตุดังกล่าว การที่ 18 แกนนำกลุ่มการชุมนุมได้ฝ่าฝืนกฎหมายหลายบท หลายกรรมดังกล่าว ถือว่ามีความผิดร่วมกันฐานเป็นตัวการและสนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จึงมิอาจปล่อยให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนและประชาชนต่อไปได้ สมาคมฯจึงจำต้องนำความมาร้องเรียนต่ออธิบดีกรมศิลปากรและผู้อำนวยการเขตพระนคร ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้เสียหายตามกฎหมาย เพื่อเร่งแจ้งความดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา เพื่อเอาผิดผู้ที่บังอาจกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายทั้ง 18 รายดังกล่าวโดยเร็ว
อนึ่ง มาตรา 83 ระบุว่า ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 63)
Tags: กรมศิลปากร, กรุงเทพมหานคร, การเมือง, ชุมนุม, ธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ร้องเรียน, ศรีสุวรรณ จรรยา, สนามหลวง, หมุดคณะราษฎร, โบราณสถาน