นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเปิดเวทีสัมมนา “ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU?” ในวันที่ 22 กันยายน 2563 เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู โดยเชิญวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน (SMEs) เกษตรกร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อผลการศึกษาดังกล่าว และระดมความเห็นการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งกรมฯ จะรวบรวมเสนอระดับนโยบายประกอบการพิจารณาตัดสินใจการดำเนินการของไทยต่อไป สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมและร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ตลอดงาน
ปัจจุบันไทยมีการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) แล้ว 13 ฉบับ กับคู่ค้า 18 ประเทศ มีสัดส่วนการค้าคิดเป็น 62.8% ของการค้าไทยกับทั้งโลก (ข้อมูลปี 2562) ในขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ มีสัดส่วนการค้ากับไทยสูงถึง 7.9% ซึ่งสูงรองจากอาเซียน (22.4%) จีน (16.5%) ญี่ปุ่น (12%) และสหรัฐฯ (10.1%) สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาระบุว่า การเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรปจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขัน ขยายและเข้าถึงตลาดให้กับสินค้าที่ไทยมีศักยภาพส่งออกไปอียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น และอาจส่งผลทำให้ไทยนำเข้าสินค้าบางชนิดจากอียูเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม เมล็ดพืชน้ำมัน และสินค้าเทคโนโลยี เป็นต้น
“ขณะเดียวกัน ความตกลงฉบับดังกล่าว จะนำไปสู่การปรับกฎเกณฑ์ทางการค้าให้สอดคล้องกันมากขึ้น ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแข่งขันในตลาดโลกของไทย และจากการศึกษา FTA ที่สหภาพยุโรปทำกับสิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ พบว่า มีการหยิบยกประเด็นใหม่ๆ รวมไว้ในความตกลงด้วย เช่น การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ การยกระดับมาตรฐานแรงงาน และการปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องพิจารณาระดมความเห็นว่า ไทยพร้อมที่จะเจรจากับสหภาพยุโรปในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร”
นางอรมน กล่าว
ปัจจุบันอียูมีการทำความตกลงการค้าเสรี กับสิงคโปร์และเวียดนาม ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และ 1 สิงหาคม 2563 ตามลำดับ และอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA กับอินโดนีเซีย โดยเจรจากันมาแล้ว 9 รอบ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 รวมทั้งอยู่ระหว่างพักการเจรจา FTA กับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยในส่วนของไทยเคยเริ่มการเจรจากับอียู เมื่อปี 2556 เจรจาแล้ว 4 รอบ แต่ได้หยุดชะงักลงเมื่อปี 2557 และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2562 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้มีข้อมติที่จะเดินหน้าเตรียมความพร้อมสู่การฟื้นเจรจา FTA กับไทย
สหภาพยุโรป มีสมาชิก 27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร (ยูเค) ซึ่งจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในสิ้นปี 2563 โดยอียูเป็นกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรรวมกันกว่า 447 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กว่า 15.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 18% ของ GDP โลก เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย (รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) และเป็นนักลงทุนลำดับ 5 ของไทย (รองจากญี่ปุ่น จีน อาเซียน และจีนไทเป)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 63)
Tags: FTA, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, การค้าเสรี, ข้อตกลงการค้าเสรี, ความตกลงการค้าเสรี, สหภาพยุโรป, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม, อียู