การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ บริษัท ซีคอท จำกัด ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) เมื่อวานนี้ (19 ก.ย.) เพื่อชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและรายละเอียดโครงการ รวมถึงขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ณ อาคารอเนกประสงค์ 2 เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ ในรัศมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วย เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ผู้นำศาสนา ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จำนวนกว่า 700 คน
นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือการดำรงชีวิตของประชาชน ดังนั้น การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าไฟฟ้าจึงมีความจำเป็น และจะต้องพัฒนาให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกภาคส่วน ซึ่งการพัฒนานั้นอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 จึงจัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) เหตุผลความเป็นมา รายละเอียดของโครงการ และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ จึงขอให้ประชาชนเปิดใจ รับฟังอย่างเป็นกลาง พิจารณาว่ามีสิ่งใดที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และร่วมนำเสนอข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวลต่างๆ ในเวทีอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ขอให้ กฟผ. และบริษัท ซีคอท จำกัด นำข้อห่วงกังวลเหล่านั้น มาพิจารณาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และกำหนดเป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวมให้มากที่สุด
นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ ความเป็นมา ขอบเขต และแผนการดำเนินงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียใน รวมถึงส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งบริษัทจะรวบรวมทุกข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลของประชาชน มาพิจารณากำหนดขอบเขตการศึกษาและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปกำหนดเป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 1 ประเด็นที่ประชาชนยังมีความวิตกกังวล ได้แก่ ผลกระทบในช่วงการก่อสร้าง ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง คุณภาพอากาศ ฝุ่น และเสียง และเสนอให้มีมาตรการส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพประชาชนและสร้างสวนสุขภาพสำหรับชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานของชุมชนในพื้นที่ และมีข้อเสนอแนะในประเด็นอื่น ๆ เช่น ปัญหาการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นต้น
ด้านนางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมและพร้อมรับฟังทุกข้อคิดเห็น เพื่อนำไปจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ ให้มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมทุกข้อห่วงกังวล และเหมาะสมสำหรับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด และจะนำเสนอรายงานผลการศึกษาและมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) เป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในเขตนครหลวง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ในการศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA โครงการฯ ประกอบด้วยหน่วยการผลิต จำนวน 3 หน่วย มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุดหน่วยละ 830 เมกะวัตต์ รวมมีกำลังผลิตติดตั้งสูงสุดที่ 2,490 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) หน่วยที่ 1 ในปี 2569 หน่วยที่ 2 และ 3 ในปี 2570 โดยจะก่อสร้างในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ปัจจุบัน
ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องได้จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ที่ แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ หรือ แผนกสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมัน ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. หรือ บริษัท ซีคอท จำกัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 63)
Tags: กฟผ., ขรรชัย เกรียงไกรอุดม, ซีคอท, ศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล, ศิวพร ฉั่วสวัสดิ์, สมุทรปราการ, โรงไฟฟ้า, โรงไฟฟ้าพระนครใต้