ธปท.เตือนเอกชนปรับตัวรับมือเศรษฐกิจไทยเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเสนองานวิจัย เรื่อง “เศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอน: ปรับกระบวนทัพ รับความท้าทาย” โดยนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ธปท.

งานวิจัยนี้เจาะลึกถึงแหล่งที่มาของความไม่แน่นอน วิเคราะห์ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งในระดับมหภาคและระดับธุรกิจว่ามีมากน้อยเพียงใด และนำเสนอประเด็นที่ผู้ดำเนินนโยบายควรให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

โดยได้รวมรวมและสร้างดัชนีบ่งชี้ระดับความไม่แน่นอนใน 4 ด้านหลัก คือ

  • ความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และวิกฤติโควิดในปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีความไม่แน่นอนทางนโยบายเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้นมากที่สุด
  • ความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคไทย ซึ่งสะท้อนความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินและการคลังของไทยนั้น มีการประทุขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น การเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองที่เข้ามาบริหารเศรษฐกิจ ความขัดแย้งในการออกมาตรการดูแลเงินบาท และความไม่แน่นอนของมาตรการภาครัฐในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด
  • ความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองไทย ซึ่งวัดจากการประท้วงทางการเมือง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก การปฏิวัติ การยุบสภา การเลือกตั้ง และการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการประทุขึ้นอย่างรุนแรงหลายครั้งในช่วงปี 2549-2557 และกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2563
  • ความไม่แน่นอนทางด้านภาวะเศรษฐกิจไทย โดยพิจารณาทั้งด้านเศรษฐกิจมหภาคและด้านตลาดการเงิน พบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงสามช่วงคือ ช่วงวิกฤติการณ์การเงินโลกในปี 2008 ช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 และช่วงวิกฤติโควิดในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยได้เผชิญกับการขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีถึง 6 คนและการปฏิวัติรัฐประหารถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาเพียง 8 ปี ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงปี 2549-2557 ส่งผลให้การผลิตในประเทศหายไปกว่า 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เลยทีเดียว

งานศึกษายังพบว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอนที่สูง การดำเนินนโยบายการเงินของภาครัฐมีประสิทธิผลลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้น ภาคเอกชนจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลบริษัทกว่า 350,000 แห่งเพื่อศึกษาว่าแต่ละภาคธุรกิจมีความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งพบว่าบางภาคการผลิตได้มีการปรับตัวเมื่อเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้สร้างดัชนีรายหัวข้อสำหรับความไม่แน่นอนในแต่ละด้าน เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้ดัชนีความไม่แน่นอนของทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 ปีล่าสุด

เมื่อประเมินผลกระทบของความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า การสูงขึ้นของความไม่แน่นอนมีผลทางลบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยการลงทุนภาคเอกชนและภาคการส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

อนึ่ง บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง” ซึ่งจะจัดในวันที่ 28 กันยายน 2563 ซึ่งจะมีการเจาะลึกว่าธุรกิจใดยังมีความเปราะบางสูง ธุรกิจไหนมีความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอนได้ดี และเศรษฐกิจไทยควรปรับโครงสร้างไปในทิศทางใดเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในหลากหลายมิติในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top