สรรพากร เล็งยกเลิกค่าลดหย่อนภาษีบางรายการ-มุ่งยกระดับบริการด้วยดิจิทัล

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวผ่านเพจ “ห่วงใย Thai Business” ในหัวข้อ “ให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย” (Easy Tax Transforms Your Life) ว่า กรมสรรพากรมุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และลดความเหลื่อมล้ำ

ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมสรรพากรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการยกเลิกการให้สิทธิค่าลดหย่อนภาษีในบางประเภท เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีเงินได้

“เรื่องภาษีกับความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราศึกษามาตลอด แต่เรื่องนี้อ่อนไหว คงไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะจะมีความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ตอนนี้กำลังศึกษากันเป็นการภายใน…เราจะดูว่าตัวไหนทำได้เร็ว ได้ช้า บางอันต้องแก้กฎหมาย กำลังทบทวนว่าอะไรที่สามารถแก้ในระดับที่ไม่ใช่กฎหมาย ถ้าทำได้ เราจะทำ เช่น ค่าลดหย่อนบางประเภท ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ผมจะตัดค่าลดหย่อนประเภทนั้น คนที่เคยได้ค่าลดหย่อนประเภทนั้น อาจจะรู้สึกว่าเคยได้ แต่คนรวยคือคนได้ประโยชน์ ดังนั้นต้องเลิก อะไรที่เป็นค่าลดหย่อนที่เหลื่อมล้ำ ผมจะตัด ถ้าอยู่ในอำนาจที่ผมทำได้ ทำเร็ว ก็จะทำ เพื่อสร้างความเป็นธรรม”

นายเอกนิติกล่าว

พร้อมยืนยันว่า ในเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด ขณะเดียวกันจะต้องพิจารณาถึงช่วงเวลาการนำออกมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงที่ประเทศไทยเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในเรื่องการชำระภาษีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การชำระภาษีและการคืนเงินภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้มีความสะดวกยิ่งขึ้น โดยล่าสุด ในการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้ประจำปี 2562 มีผู้ยื่นแบบชำระภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ตถึง 11 ล้านคน และกรมสรรพากรได้คืนเงินภาษีให้แล้วกว่า 90% คิดเป็นมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วันในการคืนภาษี ซึ่งในส่วนที่เหลืออีก 5-6% ที่ยังไม่ได้รับเงินคืนภาษีนั้น อาจจะติดปัญหาการยื่นข้อมูลไม่ครบ จึงทำให้การขอคืนภาษีต้องล่าช้าไป

“ตอนนี้เราคืนเงินภาษีไปกว่า 90% แล้ว คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท เป็นการคืนโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ส่วนกลุ่มที่เหลืออยู่อีก 5-6% ที่ยังไม่ได้รับคืนภาษี อาจเป็นเพราะยังยื่นข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งในส่วนนี้เราจะต้องรอ เพราะถ้าคืนภาษีให้ไปก็จะเป็นการไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม”

นายเอกนิติระบุ

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้พยายามนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยทำให้การชำระภาษีของประชาชน และภาคธุรกิจมีความสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ภายใต้ 3 พันธกิจสำคัญ คือ

  1. เก็บภาษีตรงเป้าหมาย (Tax Collection)
  2. นโยบายตรงกลุ่ม (Tax Policies)
  3. การบริการตรงใจ (Tax Services) โดยมีแนวคิดการทำงานเหมือนเอกชน คือ ยึดประชาชนหรือลูกค้าเป็นตัวตั้ง (Customer Centric)

“กรมสรรพากรพยายามจะนำดิจิทัลมาช่วยให้การเสียภาษีง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนจากกระดาษมาสู่ดิจิทัลแล้ว ยังจะต้องเปลี่ยนกระบวนการคิด ปรับกระบวนการทำงานโดยใช้ดิจิทัลให้มากขึ้น”

นายเอกนิติ กล่าว

พร้อมระบุว่า กรมสรรพากรได้นำ Digital Transformation มาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและชำระภาษี โดยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและชำระภาษี เกิดขึ้นภายใต้ 9 ระบบดิจิทัล ดังนี้

  1. Tax from Home ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงการทำธุรกรรมภาษีในทุกมิติได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย e-Registration การลงทะเบียนขอยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ต และนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านทางอีเมล, e-Filing การยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอินเตอร์เน็ต, e-Payment การชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ และ e-Refund การคืนเงินภาษี
  2. My Tax Account เป็นระบบที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้น เพื่อตรวจสอบสิทธิค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ
  3. e-Donation ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรับรองข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยรับบริจาค
  4. Open API ระบบที่พัฒนาสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการยื่นแบบและชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์
  5. RD Smart TAX Application นวัตกรรมใหม่ในการจัดการด้านด้านภาษี มิติใหม่ของการให้บริการธุรกรรมของภาครัฐ ผ่านแอปพลิเคชั่น
  6. VRT on Blockchain ระบบการคืนเงินภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นที่ใช้ระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนในการเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นที่แรกของโลก
  7. e-Tax Invoice & e-Receipt ใบกำกับภาษี รวมถึงใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับที่จัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
  8. e-Withholding Tax ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อมีการจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับเงินทั้งในและต่างประเทศ จะมีการนำส่งข้อมูลและภาษีพร้อมการชำระเงินผ่านธนาคารที่เป็นผู้ให้บริการในระบบดังกล่าวแทนการยื่นด้วยแบบกระดาษ ช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ลดภาษี และสามารถตรวจสอบหลักฐานได้ตลอดเวลา ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 1 ต.ค.63
  9. e-Stamp Duty การชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเสียภาษี เป็นการส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบ e-Business ให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top