‘ไมโครลิสซิ่ง’ เคาะราคา IPO ที่ 2.65 บ.เปิดจอง 21-23 ก.ย.เข้าเทรด SET 1 ต.ค.

นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ. ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) เปิดเผยว่า MICRO ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 235 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาทต่อหุ้น กำหนดราคาไอพีโอหุ้นละ 2.65 บาท จัดสรรให้แก่ บุคคลทั่วไป 58.4% นักลงทุนสถาบัน 16.6% และผู้มีอุปการคุณรวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์และพนักงาน 25.0%

ทั้งนี้ กำหนดเปิดจองซื้อหุ้น IPO ในช่วงระหว่างวันที่ 21 – 23 กันยายนนี้ และคาดว่าจะดำเนินการเปิดซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรก ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ในกลุ่มธุรกิจการเงิน / เงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า MICRO

พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ MICRO จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด

สำหรับการตั้งราคาไอพีโอที่ 2.65 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E (Pre-Dilution) ประมาณ 14.0 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่มีความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ เป็นธุรกิจที่กำลังขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

“เรามั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ MICRO ในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ด้วยราคาไอพีโอที่เหมาะสม และการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปตั้งแต่วันโรดโชว์ในช่วงที่ผ่านมา จึงเชื่อว่า MICRO จะเป็นหุ้น Growth Stock ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุนในระยะยาว”

นายรัชต์ กล่าว

MICRO มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำเงินที่ได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวนประมาณ 620 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อจำนวน 460 ล้านบาท ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 150 ล้านบาท และลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวน 10 ล้านบาท

นายวินิตย์ ปิยะเมธาง กรรมการผู้จัดการ MICRO เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้ MICRO พร้อมขยายการเติบโต โดยโครงการในอนาคตในปี 63 บริษัทมีแผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ Mobile Application สำหรับการรวบรวมข้อมูลลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานสาขาส่งข้อมูลมายังสำนักงานใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการอนุมัติสินเชื่อจากส่วนกลาง ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะใช้เงินที่ได้รับจากเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และคาดว่าระบบจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในปีนี้

บริษัทตั้งเป้ารักษาอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อได้ไม่น้อยกว่า 30% ต่อปี โดยมีแผนจะขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 64-65 คาดจะมี 16 สาขา และ 20 สาขา จากปี 63 มี 12 สาขา เน้นจังหวัดที่มีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสูง หรือในพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการเต็นท์รถบรรทุกมือสองจำนวนมาก คาดว่าจะใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 4 ล้านบาท เพื่อรองรับเป้าหมายการขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อให้เติบโตเป็น 5,000 ล้านบาทภายในปี 65

“ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมและการขยายลูกค้าใหม่ ผ่านการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเต็นท์รถบรรทุกมือสองและการเพิ่มจำนวนสาขาให้ครอบคลุมและสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สำหรับแผนธุรกิจระยะยาว บริษัทมีแผนจะเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร”

นายวินิตย์ กล่าว

ด้านนายกานต์ดนัย ชลสุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านบัญชีและการเงิน MICRO เปิดเผยว่า จากแผนงานที่บริษัทจะนำเงินบางส่วนจากการระดมทุนไปชำระหนี้เงินกู้ 150 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% จะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงมาอยู่ในระดับ 1 เท่า ขณะเดียวกันเมื่อชำระหนี้แล้วบริษัทจะมีการกู้เงินบางส่วนที่มีอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 4% มาแทน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง นอกจากนี้ ยังมีแผนจะระดมทุนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในอนาคตเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงกว่าเดิม

บริษัทยังตั้งเป้าจะรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ให้เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7% โดยเน้นการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และด้วยประสบการของบริษัทในการประเมินราคารถบรรทุก เชื่อว่าจะทำให้ไม่เกิดผลกระทบมากหากเกิด NPL ขึ้น

สำหรับนโยบายของบริษัทหลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แล้ว บริษัทจะยังคงการขยายตลาดในการให้สินเชื่อรถบรรทุกมือสองอยู่ เนื่องจากต้องอาศัยความชำนาญในการเข้ามาบุกตลาดนี้ และเป็นตลาดที่สามารถมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ดี และสูงกว่าตลาดรถบรรทุกใหม่ หรือรถบรรทุกที่มีอายุ 1-5 ปี

“ตลาดรถบรรทุกมือสองนี้มีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบันเรามีพอร์ตแค่ 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ายังมีโอกาสการเติบโตอีกมาก และการแข่งขันในตลาดนี้ค่อนข้างต่ำเพราะต้องอาศัยความชำนาญในการประเมิณราคารถบรรทุก เราจึงเชื่อมั่นว่าด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนแน่นอน”

นายกานต์ดนัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top