ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานในวันนี้ระบุว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะหดตัวลงในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 60 ปี แต่จะฟื้นตัวอีกครั้งในปีหน้า โดยจะเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ADB เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย (ADO) ประจำปี 2563 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาคเอเชียในปีนี้จะติดลบ 0.7% ซึ่งจะเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 หรือราวปี 2503
รายงานระบุว่า GDP จะขยายตัวขึ้น 6.8% ในปี 2564 แต่ผลผลิตในปีหน้าจะยังคงต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนเกิดโรคโควิด-19 ซึ่งบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียจะเป็นรูปตัว L มากกว่ารูปตัว V โดยเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวเพียงบางส่วน และยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่
รายงานระบุว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียราว 75% จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบในปีนี้
นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB เปิดเผยในการแถลงข่าวทางออนไลน์ว่า “เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกจะเผชิญความยากลำบากในการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้”
เขาระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำอาจส่งผลให้มีการดำเนินมาตรการควบคุมต่อไป
“ขั้นตอนที่สอดคล้อง และการประสานงานกันในการรับมือกับโรคระบาด รวมถึงการดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเกี่ยวกับการปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งมีความเปราะบางมากที่สุด และการรับประกันความปลอดภัยในการกลับไปทำงานและการเริ่มต้นกิจกรรมทางธุรกิจนั้น จะยังคงมีความสำคัญในการรับประกันการฟื้นตัวของภูมิภาคที่เป็นไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืน”
นายซาวาดะระบุ
รายงานระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยังคงเป็นความเสี่ยงมากที่สุดต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปีนี้และปีหน้า
เพื่อลดความเสี่ยงนั้น รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคได้ดำเนินนโยบายเพื่อรับมือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนด้านรายได้ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของ GDP ภูมิภาคเอเชีย
ความเสี่ยงอื่นๆ ยังเกิดจากความตึงเครียดระหว่างประเทศ รวมถึงความผันผวนทางการเงินซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
รายงานระบุว่า จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสวนทางภูมิภาค โดยคาดว่า GDP จีนจะขยายตัว 1.8% ในปีนี้ และ 7.7% ในปีหน้า โดยได้แรงหนุนจากการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จ
ADB คาดว่า GDP ของอินเดียจะหดตัวลง 9% ในปีนี้ ก่อนฟื้นตัว 8% ในปีหน้า โดยมาตรการล็อกดาวน์ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจของอินเดียหยุดชะงัก และทำให้ GDP อินเดียหดตัวลงมากเป็นประวัติการณ์ถึง 23.9% ในไตรมาสแรกของปีนี้
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคย่อยในเอเชียจะติดลบในปีนี้ ยกเว้นในเอเชียตะวันออกซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 1.3% ในปีนี้ และฟื้นตัวแข็งแกร่ง 7% ในปีหน้า
บางประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้าและการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียแปซิฟิกและเอเชียใต้นั้น จะเผชิญกับการหดตัวลงเป็นเลขสองหลักในปีนี้
การคาดการณ์ของ ADB บ่งชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในเอเชียจะฟื้นตัวในปีหน้า ยกเว้นบางประเทศในเอเชียแปซิฟิก
ADB คาดว่าเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะลดลงสู่ 2.9% ในปีนี้ จาก 3.2% ที่คาดไว้ในเดือนเม.ย. เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำและอุปสงค์ยังคงอ่อนแอ และคาดว่าเงินเฟ้อในปีหน้าจะอ่อนแอลงอีกสู่ระดับ 2.3%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 63)
Tags: ADB, จีน, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, ยาซูยูกิ ซาวาดะ, อินเดีย, เศรษฐกิจเอเชีย