โบรกเกอร์ต่างแนะนำ”ซื้อ”หุ้น บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) คาดกำไรฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปี 63 จากกำไรการขาย NPA เพิ่มขึ้น หลังอัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการขายทรัพย์มือสองค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งเจรจาขาย NPL และ NPA ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็เดินหน้าซื้อหนี้เข้าพอร์ตตามที่ตั้งเป้า 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้
อย่างไรก็ดี กำไรในปี 63 คาดว่าจะลดลง 61-65% จากปีก่อนมาที่ 2.32 -2.55 พันล้านบาท หลังกำไรไตรมาส 2/63 อ่อนแอ แต่มีลุ้น upside จากการบันทึกสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (DTA) 2-2.5 พันล้านบาทเข้ามารับรู้ในปีนี้ อีกทั้งคาดว่าอัตราการจ่ายผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ปีนี้อยู่ที่ 3.5-4.8%
ขณะที่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงทำให้หุ้น BAM น่าสนใจ
พักเที่ยง ราคาหุ้น BAM อยู่ที่ 21.80 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.10%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
หยวนต้าฯ | ซื้อ | 29.50 |
กสิกรไทย | outperform | 28.75 |
ทรีนีตี้ | ซื้อ | 28.50 |
เคจีไอฯ | outperform | 28.00 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 26.00 |
เคทีบีฯ | ซื้อ | 25.00 |
ไทยพาณิชย์ | outperform | 25.00 |
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้ปรับคำแนะนำสำหรับหุ้น BAM จาก “ถือ”เป็น”ซื้อ”และปรับราคาเป้าหมายขึ้นมาเป็น 25 บาท จากเดิม 22.00 บาท หลังได้ข้อมูลใหม่ และคาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 จะกลับมาดีขึ้น หลังจากที่กรมบังคับคดีสามารถเปิดประมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ตามปกติ หลังจากปิดไปเมื่อช่วงโควิด-19 ระบาด และยอดขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ดีขึ้นหลังจากที่ออกจำหน่ายได้ และได้รับเสียงตอบรับดี และคาดว่าจะดีต่อเนื่องในไตรมาส 4/63 จากลูกหนี้ที่ขอรับการช่วยเหลือกลับมาชำระได้ตามสัญญาในเดือน ก.ย.
บริษัทยังคงเป้ายอดซื้อ NPL/NPA ปีนี้ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดย BAM อยูในช่วงสะสมพอร์ต คาดว่ากำไรในปี 63 ที่ระดับ 2.32 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 65% แต่จะกลับมาโตในปี 64 ที่คาดมีกำไร 4.67 พันล้านบาท เติบโต 101% อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่าจะรับรู้รายได้จาก DTA ประมาณกว่า 2 พันล้านบาท จากยอดรวม 4.9 พันล้านบาท
นอกจากนี้ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงก็น่าสนใจที่เข้าลงทุน โดย BAM มีจุดแข็งที่เคยเป็นหน่วยงานรัฐ มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง และ อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E)ต่ำ
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวก โดยคาดว่ากำไรของ BAM จะฟื้นตัวเด่นตั้งแต่ไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป หนุนด้วยแนวโน้มกำไรจากทั้งการขาย NPA ที่ดีขึ้นมาก หลังกรมบังคับดีกลับมาเปิดประมูลได้ตามปกติ และ BAM เริ่มอัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการขายทรัพย์มือสองค่อนข้างมากในช่วงครึ่งหลังปี 63 ทั้งมหกรรมลดราคา 9 เดือน 9 และการขายผ่าน Online Channel ในเว็บไซต์ของบริษัทเองหรือการขายผ่าน Shopee บวกกับ Offline Channel ด้วยการออกบูธตามงานอีเว้นท์ต่าง ๆ อีกกว่า 10 งานในปีนี้ คาดจะได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีเพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำและราคาอสังหาริมทรัพย์มือหนึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาพอสมควรแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทั้งปีนี้คาดว่า BAM จะมีกำไรปกติราว 2.5 พันล้านบาท ลดลง 61.1%YoY หลังจากในช่วงไตรมาส 2/63 มีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ มอง BAM เป็น Defensive Play แข็งแกร่ง โดยผลดำเนินงานที่อ่อนแอในไตรมาส 2/63 เป็นเพียงประเด็นชั่วคราว และคาดแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ในไตรมาส 3/63 นอกจากนี้ยังมี Upside Risk จากกำไรพิเศษในส่วนของ DTA และการขายทรัพย์ NPA รายใหญ่ ขณะที่ราคาหุ้นมี Upside ราว 36% จากมูลค่าพื้นฐานปี 64 ที่ 29.50 บาท และคาดมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลอีก 3.5%
บล.ไทยพาณิชย์ คาดว่ากำไรของ BAM จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังปี 63 และปี 64 โดยได้รับการสนับสนุนจากความต้องการ NPA เพิ่มขึ้น และการแก้ปัญหา NPL ได้มากขึ้น บวกกับ Upside จากผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี และคาดว่า BAM จะยังจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอในปี 63 โดยคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดีในระดับ 4.8% หรืออัตราหุ้นละ 1.05 บาท แนะนำ Outperform แต่ปรับราคาเป้าหมายลดลงจาก 27 บาท สู่ 25 บาท เนื่องจากปรับประมาณการกำไรปกติลดลง 23% ในปี 63 และ 11% ในปี 64
“คาดว่ากำไรจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบ V-shape ในช่วงครึ่งหลังปี 63 ฟื้นตัวจากการออกแคมเปญราคาพิเศษสำหรับขาย NPA กรมบังคับคดีกลับมาจัดการขายทอดตลาดหลังจากปิดการขายทอดตลาดตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.-31 พ.ค. และการกลับมาออกบูธจำหน่ายทรัพย์ในครึ่งหลังปี 63 (2 อีเว้นท์ในเดือนก.ค. และอีกมากกว่า 10 อีเว้นท์ที่กำลังจะมาถึง) BAM กำลังเจรจาขาย NPL และ NPA ขนาดใหญ่ 3-4 รายการ มูลค่า 100-300 ล้านบาทต่อรายการ และ 1 รายการ มูลค่า 800 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้ข้อสรุปในครึ่งหลังปี 63 “
บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ คาดว่า BAM จะมีกำไรพิเศษจากผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ซึ่ง BAM วางแผนรับรู้ผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีมากที่สุดเท่าที่ทำได้ในปีนี้ ถ้าได้รับความเห็นชอบจากผู้สอบบัญชี อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการใช้ผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีในอนาคต ซึ่ง BAM จะทยอยรับรู้ผลประโยชน์เหล่านี้เมื่อความไม่แน่นอนหมดไป โดยเอาผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเข้ามาไว้ในประมาณการจำนวน 2 พันล้านบาท ในปี 63 และ 1.5 พันล้านบาท ในปี 64 และ 1 พันล้านบาทในปี 65
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 63)
Tags: BAM, Consensus, DTA, NPA, NPL, กสิกรไทย, ทรีนีตี้, ทิสโก้, บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์, บล.ไทยพาณิชย์, มงคล พ่วงเภตรา, หยวนต้า, เคจีไอ, เคทีบี, ไทยพาณิชย์