นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่า ขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง หลังเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดน
“กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนประเทศให้เดินหน้าต่อไปในเรื่องเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป…เราอาจจำเป็นต้องมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่อยู่บนพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถควบคุมได้”
นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าว
เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดย สธ.มีระบบในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ทั้งระบบข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่สามารถติดตามตัวผู้ป่วยได้ทันที สถานพยาบาลรองรับได้ 1-2 หมื่นคน สถานที่กักกันตัวของรัฐ
“เราไม่ได้ชะล่าใจ ยังคงมีการติดตามและค้นหาประชากรกลุ่มหนึ่งที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เนื่องจากอยู่ในวงจำกัดทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น โดยยังพยายามค้นหาผู้ป่วยต่อเนื่อง”
นพ.วิทูรย์ กล่าว
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อย.ได้ตั้งคณะทำงานจัดสรรทรัพยากรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งหน้ากากอนามัย, ชุด PPE และยารักษา ที่มีปริมาณเพียงพอ พร้อมทั้งสำรองเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการสำรองหน้ากาก N95 จำนวน 2,430,189 ชิ้น, ชุด PPE จำนวน 1,471,131 ชุด, หน้ากากอนามัย จำนวน 43,414,478 ชิ้น (สำรองใช้ได้นาน 3 เดือน) และมีโรงงานผลิต 45 แห่ง กำลังการผลิต 3,418,400 ชิ้น/วัน, ยา Favipiravir จำนวน 590,680 เม็ด และขึ้นทะเบียนยา Remdesivir จำนวน 2 ทะเบียน
ขณะเดียวกันได้มีการกระจายทรัพยากรต่างๆ ได้แก่ หน้ากาก N95 จำนวน 29,872 ชิ้น, ชุด PPE จำนวน 28,704 ชุด, หน้ากากอนามัย จำนวน 3,831,938 ชิ้น ชุด Surgical Gown จำนวน 15,645 ชุด ไปยังจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมาที่มีความเสี่ยง ประกอบด้วย ตาก, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร และ ระนอง
นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาน่าจะยืนยันได้ว่าแนวทางการบริหารจัดการของ สธ.ในเรื่องนี้มีแผนงานชัดเจนและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ขณะเดียวกันได้มีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดต่างประเทศ และได้จัดสรรทรัพยากรลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้มีความเพียงพอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, กองยุทธศาสตร์และแผนงาน, กองสาธารณสุขฉุกเฉิน, คณะกรรมการอาหารและยา, ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล, วิทูรย์ อนันกุล, สุรโชค ต่างวิวัฒน์, อย., โควิด-19