ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดวูบ 21% กังวลการเมือง-เศรษฐกิจถดถอย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในเดือน ส.ค.63 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 21% อยู่ในเกณฑ์ซบเซา โดยปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจัยรองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป

ขณะที่นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการเงินของสหรัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน รวมถึงความคาดหวังการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย.63) อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” โดยลดลง 21% มาอยู่ที่ระดับ 67.52 ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ยกเว้นความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในกลุ่ม “ซบเซาอย่างมาก”

  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง

“ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลงลงอยู่ในระดับ ซบเซาอย่างมาก ที่ 25.00 ในขณะที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มอื่นอยู่ในระดับ ทรงตัว โดยความเชื่อมันกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 90.63 ความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับขึ้นมาที่ 100.00 และความเชื่อมั่นของกลุ่มสถาบันในประเทศปรับลดลงมาอยู่ที่ 87.50”

นายไพบูลย์ กล่าว

ช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน ส.ค.63 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 1,321.23-1,346.69 จุด จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว จากนั้นดัชนีปรับตัวลดลงหลังจากการประกาศ GDP ไตรมาส 2/63 หดตัว –12.2% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

อีกทั้ง สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศหลังจากมีการชุมนุมในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือน ความกังวลต่อการระบาดรอบสองของ Covid-19 ในประเทศ และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2/63 กำไรออกมาไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐ ทั้งที่มาจากการเบิกจ่ายในงบประมาณ และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของภาครัฐ

ณ สิ้นเดือน ส.ค.63 SET Index ปิดที่ 1,310.66 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือน ก.ค.63

นายไพบูลย์ กล่าวว่า นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการเงินของสหรัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน รวมถึงความคาดหวังผลของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจัยรองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 ในหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ล่าช้าออกไป และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ความไม่แน่นอนของการต่ออายุมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุ ความเสี่ยงด้านการว่างงานและการปิดกิจการที่อาจเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงความไม่สงบทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น”

คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือน ก.ย.นี้อยู่ที่ระดับ 50 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับครั้งที่แล้วและอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง.ในเดือน ก.ย.นี้น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้ว และรัฐบาลมีการออกมาตรการด้านต่างๆมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 3 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” แม้จะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากครั้งก่อน สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 0.92% และ 1.51% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (31 ส.ค. 63) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ เนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว และอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการออกพันธบัตรเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top