นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) กำหนดไทม์ไลน์ผลักดันบริษัทย่อยภายใต้ธุรกิจ non-oil ทั้ง 5 บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ธุรกิจก๊าซ LPG, ธุรกิจกาแฟ, ธุรกิจให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์, ธุรกิจปาล์มคอมเพล็กซ์ และธุรกิจร้านมินิมาร์ท
พร้อมไปกับการขยายฐานลูกค้าบัตร MAX Card แตะ 20 ล้านรายในปี 65 จากสิ้นปีคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15 ล้านราย เพื่อหวังนำฐานข้อมูลจากผู้ถือหุ้น (Big Data) มาใช้เป็นแนวทางขยายธุรกิจ non-oil อย่างต่อเนื่อง การเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ non-oil ไปสู่เป้าหมาย 60% ภายในปี 66 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้รวม เพื่อให้ส่งผลดีต่อภาพรวมผลกำไรของบริษัท
นายพิทักษ์ กล่าวว่า ธุรกิจก๊าซ LPG ภายใต้ บริษัท แอตลาส เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ PTG ถือหุ้นราว 99% คาดว่าจะเข้าตลาดหุ้นได้เป็นบริษัทแรกในช่วงต้นปี 65 หลังจากธุรกิจเริ่มเข้าสู่ช่วงสร้างกำไร ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) แล้ว เพื่อเตรียมแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเตรียมจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง)
บริษัทมีเป้าหมายจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ธุรกิจก๊าซ LPG ที่ใช้กับยานยนต์ (Auto LPG) ในปี 64 จากปีนี้อยู่ในอันดับ 6 ด้วยการขยายสถานีบริการให้ได้ปีละ 50 แห่ง ทั้งในรูปแบบที่บริหารงานเอง (COCO) และเฟรนไชส์ (DODO) จากปัจจุบันที่มีอยู่ 200 แห่ง และจะขยายตลาดก๊าซ LPG บรรจุถังเพื่อใช้ในครัวเรือนที่มองว่าความต้องการใช้ยังเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้เข้าไปขยายตลาดในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดขายอาหารปรุงสำเร็จไปแล้ว โดยภาพรวมของธุรกิจก๊าซ LPG ทำกำไรขั้นต้นได้ดีกว่าธุรกิจน้ำมันถึง 3 เท่า
พร้อมกันนั้น PTG ยังเตรียมนำธุรกิจปาล์มคอมเพล็กซ์ กำลังการผลิต 5.1 แสนตัน ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 40% เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 64 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างคัดเลือก FA โดยเป็นธุรกิจที่มีการผลิตครบวงจรตั้งแต่โรงสกัดน้ำมันปาล์ม (CPO) ไปถึงการผลิตไบโอดีเซล B100 และยังมีผลผลิตอื่น ๆ ที่เป็นผลพลอยได้ เช่น กลีเซอรีนบริสุทธิ์ เป็นต้น ขายให้กับทั้ง PTG และบริษัทอื่น ๆ นอกกลุ่ม ซึ่งปีนี้คาดว่าจะทำรายได้ราว 600 ล้านบาท
ปัจจุบัน ปาล์มคอมเพล็กซ์ได้เตรียมพร้อมพื้นที่ คลังเก็บน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซลที่ขยายเพิ่มได้อีก 5 หมื่นตันจากที่มีอยู่ 5-6 หมื่นตัน สำหรับการขยายกำลังการผลิตได้อีกเท่าตัวในเฟสที่ 2 เพราะคิดแค่หากปริมาณการใช้ไบโอดีเซลของ PTG ต่อวันอยู่ที่ราว 1 ล้านลิตร ดังนั้น การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์จะเข้ามาช่วยขยายธุรกิจในส่วนนี้
“ตัว LPG กับปาล์มเขากำลังแข่งกันว่าใครจะมีกำไรสุทธิตอนเข้า กับ P/E เป็นอย่างไร แต่ตัว LPG น่าจะไม่เกินครึ่งแรกของปี 65”
นายพิทักษ์ กล่าว
นายพิทักษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 67 ธุรกิจที่เตรียมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ (SET) คือ ธุรกิจกาแฟ ปัจจุบันมีจำนวนสาขาประมาณ 329 สาขา แบ่งเป็นพันธุ์ไทย 260 สาขา และคอฟฟี่เวิลด์ 69 สาขา หลังจากที่บริษัทได้เริ่มดำเนินงานมาเป็นเวลา 7-8 ปี ขณะนี้ได้เห็น EBITDA ฟื้นจากติดลบมาเป็นศูนย์แล้วในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่าที่คาดว่าจะเป็นศูนย์ในช่วงปลายปีนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบในช่วงโควิดทำให้ยอดขายหดตัวลงไป แต่ตั้งแต่ในเดือน พ.ค.เป็นต้นมาเริ่มฟื้นตัว จนถึงเดือน ส.ค.เติบโตได้ถึง 20% จากข่วงเดียวกันของปีก่อน และในเดือน ก.ย.เติบโตได้ถึง 27% ดังนั้น ปีหน้าธุรกิจกาแฟจะเข้าสู่ช่วงเริ่มนับหนึ่งในการทำกำไร
พร้อมกันนั้น ศูนย์บริการรถยนต์ออโต้แบคส์ (Autobacs) และศูนย์บริการซ่อมบำรุงรักษารถบรรทุกโปรทรัค (Pro Truck) จะทยอยถึงจุดคุ้มทุนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า รวมถึง ธุรกิจร้านมินิมาร์ท MAX Mart ก็มีลุ้นที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 67 โดยเฉพาะร้าน MAX Mart ขณะนี้สาขายังอยู่เฉพาะภายในศูนย์บริการน้ำมันและก๊าซ LPG ของ PTG แต่ละในอนาคตยังมีช่องทางขยายไปตั้งเป็นสาขา Stand-alone ได้
นายพิทักษ์ กล่าวว่า อาวุธสำคัญในมือของ PTG ในการขยายธุรกิจ non-oil คือบัตร PT MAX Card ขณะนี้มียอดผู้ถือบัตรแล้ว 14 ล้านรายและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15 ล้านรายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะผลักดันให้ขยายไปสู่เป้าหมาย 20 ล้านรายในปี 65 ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่เป็นลูกค้าทุกระดับชั้น ทำให้บริษัทรับทราบพฤติกรรมของลูกค้าในการใช้ทุกบริการ จึงจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทสามารถขยายบริการด้าน non-oil ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายในอนาคตที่จะขยายสัดส่วนรายได้ของ non-oil ให้เป็น 60% ภายในปี 66 จากที่อยู่ในระดับไม่ถึง 1% ในปีนี้ เพราะแนวโน้มของรายได้จากการขายน้ำมันโดยเฉลี่ยต่อปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งของทุกแบรนด์ลดลง ขณะที่ทุกแบรนด์ก็แข่งขันกันขยายจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเกิดของปั๊มน้ำมันใหม่สวนทางกับการบริโภคในประเทศที่กำลังติดลบ ขณะที่ใช้เงินลงทุนสูงขึ้นและแข่งกันสร้างปั๊มขนาดใหญ่ขึ้น
ขอลุ้นยอดขายฟื้นโตเข้าเป้าเดิม 10-15% หลังฟื้นเร็วเกินคาด-ลดค่าใช้จ่ายหนุนกำไรดีต่อเนื่อง
นายพิทักษ์ ยังเปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ว่า ยังมีโอกาสที่ยอดขายจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่เคยวางไว้ในช่วงต้นปีในระดับ 10-15% แม้ว่าช่วงต้นปีจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แต่ขณะนี้ปริมาณขายน้ำมันกลับมาสู่ระดับปกติ 100% ถือว่าฟื้นตัวได้เร็วมากหลังจากรัฐบาลปลดล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด ทำให้ขณะนี้บริษัทคาดว่ายอดขายทั้งปีจะเติบโตได้ราว 8-12%
ขณะที่บริษัทยังได้รับผลดีจากการปรับตัวรับสถานการณ์โควิด-19 ที่เน้นการลดค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการลดการสำรองน้ำมัน จะยังคงทำให้ภาพรวมกำไรดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งคาดว่าค่าการตลาดน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้จะทรงตัวในระดับเฉลี่ย 1.90 บาท/ลิตรเช่นเดียวกับในช่วงที่ผ่านมาด้วย
“ยอดขายครึ่งปีหลังส่วนใหญ่จะดีกว่าครึ่งปีแรก ยอดขายวันนี้ดูแนวโน้มวันต่อวัน ปกติเดือน ก.ย.ในหน้าฝนจะไม่ค่อยดี แต่ปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ไม่ได้ตกลงไปเยอะ และไตรมาส 4 น่าจะโตกว่าเดิม ในมุมยอดขายครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก กำไรน่าจะดีขึ้นด้วย เพราะค่าการตลาด ประมาณลิตรละ 1.90 บาท หรืออยู่ในช่วง 1.80-2.00 บาท จนถึงปลายปีน่าจะยังทรงตัวที่ 1.90 บาท
กำไรดีเพราะยอดไม่ได้ตก โควิดเรากระทบน้อย และฟื้นตัวได้เร็ว เดือน เม.ย.ลงไป แต่ พ.ค.ฟื้นขึ้นมา ตอนนี้กลับมาเรียกได้ว่า 100% แล้ว และโควิดทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้มาก เวลาเราขอความร่วมมือในองค์กรให้ทุกคนประหยัด ก็ได้รับการสนับสนุน ไม่อิดออด ทำให้ลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ทำได้ 100 นะ แต่ได้เกิน 100% เมื่อยอดขายปกติ แต่ค่าใช้จ่ายลดลงไปมาก ครึ่งปีหลังน่าจะส่งผลดีต่อกำไร”
นอกจากนั้น จากสถานการณ์โควิดทำให้ตัวเลขสัดส่วนยอดขายดีเซลเพิ่มขึ้นมาเป็น 73-74% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 72% เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เบนซินไม่ค่อยได้ออกมาวิ่งในช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่รถบรรทุกยังต้องวิ่งส่งสินค้า ซึ่งค่าการตลาดดีเซลดีกว่าเบนซิน จึงส่งผลดีต่อบริษัทด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤติโควิดผ่านไปแล้ว และทุกอย่างเริ่มกลับมาดีขึ้น ทำให้บริษัทมองโอกาสการขยายกิจการกลับมา โดยเฉพาะการขยายสาขาปั๊มน้ำมัน แม้ว่าจะชะลอไปในช่วงก่อนหน้านี้ แต่บริษัทยังเจรจากับผู้ให้เช่าพื้นที่ตั้งปั๊มน้ำมัน และผู้ที่สนใจมาเป็นแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มี 100-200 รายในมือ อีกทั้งยังได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น โดยเฉพาะค่าเช่าที่ถูกลง ดังนั้น ในไตรมาส 4/63 บริษัทจะกลับมากดปุ่มขยายสาขาอีกครั้ง
“วิกฤติปี 40 เราเกือบจะล้มละลายไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่วิกฤติเล็กกว่าตอนนี้ แต่ตอนนั้นที่เกิดกับเรามันยิ่งใหญ่มาก แต่ครั้งนี้วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นแม้จะยิ่งใหญ่กระทบไปทั้งโลก เอาง่าย ๆ ตั้งแต่รากหญ้าไปยันบริษัทใหญ่ ๆ แต่สิ่งที่เราเรียนรู้และมีประสบการณ์จากต้มยำกุ้งทำให้การรับมือกับปัญหา มีสติในการวางแผนการแก้ไขปัญหาได้อย่างสบายสบาย ไม่ panic”
นายพิทักษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 63)
Tags: PTG, พลังงาน, พิทักษ์ รัชกิจประการ, พีทีจี เอ็นเนอยี