นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนปรับตัวลดลง 1.35% ปิดที่ระดับ 1,310.66 จุด จากความกังวลการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ดูจะยืดเยื้อ, สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึง MSCI ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ของไทย ตลอดจนสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ส่งผลปริมาณการซื้อขายรวมของธุรกรรม Block Trade ในเดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง หลังนักลงทุนชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เพราะกำหนดทิศทางตลาดได้ยาก
โดยมีปริมาณการซื้อขายธุรกรรม Block Trade ฟิวเจอร์สอ้างอิงหุ้นรายตัวเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1,687 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 4.60% ของมูลค่าการซื้อขายหุ้นอ้างอิงบนกระดานหลัก เทียบกับเดือนก.ค.ที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 2,004 ล้านบาท ขณะที่มีจำนวนสัญญา Block Trade คงค้าง ณ วันสุดท้ายของเดือนคงเหลือ 1,819,082 สัญญา จัดเป็น Single Stock Futures สูงถึง 1,277,511 สัญญา คิดเป็น 70.23% ของสัญญาอนุพันธ์คงค้างรวม และมีมูลค่าสถานะคงค้างเฉลี่ยรายวันคิดเป็น 14,849 ล้านบาท เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า 778 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.53%
ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีหุ้นอ้างอิงที่ทำธุรกรรม Block Trade ทั้งหมด 122 หุ้น ซึ่งหุ้นอ้างอิงที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 6.26% แม้ราคาหุ้นจะไปในทิศทางที่สวนกับปริมาณการซื้อขาย แต่สถานะคงค้างก็ถูกเก็บเข้าเรื่อย ๆ โดยมีมูลค่าสะสม ณ สิ้นเดือนส.ค.ที่ระดับ 728 ล้านบาท
อันดับ 2 คือ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) มีการซื้อขายสูงถึง 4.39% โดยนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร หลังราคาปรับตัวลดลง เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากไวรัสโควิด-19 ขณะที่บริษัทประกาศงบการเงินขาดทุนน้อยกว่าคาด และนักลงทุนคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมา เนื่องจากหลายประเทศเริ่มทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์
อันดับ 3 คือ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีการซื้อมาขายสูงถึง 4.13% หลังนักลงทุนมองว่า ราคาหุ้นผ่านจุดต่ำสุดจากช่วงแรกไปแล้ว ขณะที่หลายประเทศเริ่มมีการรับมือกับสถานการณ์ที่ดีขึ้น และนักลงทุนเชื่อว่า รัฐบาลอาจมีมาตรการเยียวยาออกมาช่วยเหลือประชาชน
นายบรรณรงค์ กล่าวอีกว่า แม้ธุรกรรม Block Trade ในเดือนส.ค.จะไม่คึกคัก ตามตลาดหุ้นไทยที่ผันผวน แต่หลักทรัพย์บัวหลวงยังคงสามารถรักษาระดับส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ที่ระดับ 10.3% เมี่อเทียบกับช่วงต้นปี 63 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในระดับต่ำสุดที่ 7.2% เนื่องจากบริการ Block Trade ของหลักทรัพย์บัวหลวงมีจุดเด่นหลากหลายด้านตอบโจทย์นักเก็งกำไร Block Trade อย่างแท้จริง
โดยเฉพาะเครื่องมือช่วยการลงทุน Block Trade ที่มีชื่อว่า “e-BlockTrade” ระบบส่งคำสั่งซื้อขาย Block Trade ที่มีความรวดเร็วมาพร้อมกับฟังก์ชันยอดฮิต “Conditional order” ที่สามารถกำหนดจุดเข้าและจุดออกได้ ซึ่งจุดเด่นดังกล่าวหนุนให้ส่วนแบ่งการตลาดธุรกรรม Block Trade ของบริษัท ในช่วงไตรมาส 2 ปี 63 อยู่เฉลี่ย 11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 63 ที่อยู่เฉลี่ย 9.03%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 63)
Tags: Block Trade, ตลาดหุ้นไทย, บรรณรงค์ พิชญากร, บัวหลวง, หุ้นไทย