นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.24/30 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.32/34 บาท/ดอลลาร์
วันนี้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ แนวโน้มทรงตัว เนื่องจากตลาดรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 15-16 ก.ย.นี้ โดยตลาดให้ความสำคัญกับความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ในเรื่องของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ
“วันนี้บาทมีแนวโน้มทรงตัว น่าจะเคลื่อนไหวแคบๆ เช่นเดียวกับดอลลาร์สหรัฐ รอผลประชุม FOMC กลางสัปดาห์นี้ ว่าประธานเฟดจะมี comment อะไรในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่ายังคงเท่าเดิม ไม่มีการปรับ”
นักบริหารเงินระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.40 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (11 ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.35741% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.35621%+
SPOT ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 31.27250 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 105.91 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 106.23 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1821/1865 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1870/1873 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.3050 บาท/ดอลลาร์
- ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ (14-18 ก.ย.) อยู่ที่ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (15-16 ก.ย) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (16-17 ก.ย.) และธนาคารกลางอังกฤษ (17 ก.ย.) ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ สถานการณ์โควิด-19 ในไทยและต่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน
- สมาคมโรงแรมไทย เผยการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ส่งผลกระทบให้ต้องเลิกจ้างพนักงานแล้ว 1 ล้านคน เสนอให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนเปิดวงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูท่องเที่ยว ด้วยการให้รัฐเข้าร่วมทุนเข้ามารับซื้อหนี้จากผู้ประกอบการเป็นเวลา 7 ปี พร้อมขอให้ขยายเวลาโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’
- รัฐบาลรับมือโควิดลากยาว “สุพัฒนพงษ์” เร่งทำแผนรับมือจ้างงาน อุ้มหนี้เอสเอ็มอี เตรียม 7.4 แสนล้านรับมือปี 64 จัดงบกลาง 1.4 แสนล้าน ตุนวงเงินกู้ที่เหลือ 6 แสนล้าน เพลย์เซฟทยอยอนุมัติใช้ หวั่นระบาดรอบ 2 สำนักงบฯมั่นใจเพียงพอกู้วิกฤติ ชี้แผนสำรองขยายเพดานหนี้สาธารณะเกิน 60%
- รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้มอบให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงอาหารและการแพทย์ ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก มีการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมหลักอื่นจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ดีขึ้น เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
- “สำนักงบประมาณ” ร่อนหนังสือด่วน ถึงส่วนราชการทั่วประเทศ แจงงบรายจ่ายประจำปี 2564 ใช้ไม่ทัน 1 ต.ค.นี้ หลังติดขัดกระบวนการ กมธ.พิจารณาล่าช้า ต้องให้นายกฯ อนุมัติใช้งบเก่าปี 2563 ไปพลางก่อน ยันไม่กระทบการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ แต่ต้องชะลอโครงการลงทุนใหม่ออกไปก่อน
- ภาคธุรกิจเตรียมแผนรับมือโควิดระบาดรอบ 2 “กำเงินสด-กระจายเสี่ยงธุรกิจ ช่องทางขาย” วิลเลียม อี.ไฮเน็ค วอนรัฐโฟกัสเปิดประเทศ ก่อนคนในประเทศตายเพราะภัยพิบัติเศรษฐกิจ “มาม่า”คุมเข้มปลอดภัยโรงงานผลิต “พฤกษา”เน้นบริหารสภาพคล่องจับกลุ่มเรียลดีมานด์ที่มีกำลังซื้อ ด้าน”ค้าปลีก-ไอที-โทรคม”ยังเชื่อรัฐคุมโควิดระลอก 2 ได้
- “บิ๊กตู่” สั่งตั้งทีมลุยสางปัญหาหนี้นอกระบบ เผย “รัฐบาล” ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกมิติ
- มอร์นิ่งสตาร์ เผย 7 เดือนแรก มีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนรวมไทยทั้งสิ้น 3.3 แสนล้านบาท เหตุมีปัจจัยลบเข้ามากระทบมาก แต่ในเดือนก.ค. 63 กองทุนรวมตราสารตลาดเงินยังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิมากถึง 2.6 หมื่นล้านบาท มั่นใจ หากสถานการณ์คลี่คลาย นักลงทุนมีโอกาสเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
- โกลด์แมน แซคส์ เพิ่มประมาณการจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐ จาก 30% เป็น 35% เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคแข็งแกร่งอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่เศรษฐกิจอังกฤษก็ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จีดีพีเดือนกรกฎาคมโต 6.6% เพิ่มขึ้นจากช่วงต่ำสุดในเดือนเมษายนถึง 18.6%
- ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ บริษัทวิจัยจากอังกฤษเปิดเผยว่า ความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกจะร่วงลง 57% ในปี 2563 เนื่องจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศและการกักตัวที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมิ.ย.และก.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนส.ค. หลังจากดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือนก.ค.
- กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผย ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. และมีแนวโน้มแตะ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนนี้
- แบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ของสหรัฐเป็นขยายตัว 27% จากเดิมที่ระดับ 15% โดยระบุถึงแนวโน้มที่ดีเกินคาดของยอดค้าปลีก, ตลาดบ้าน และการจ้างงาน
- บรรดานักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 ก.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าเฟดจะให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับ “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่นายเจอโรม พาวเวลประธานเฟด ได้กล่าวถึงในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮลเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ โดยเฟดจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตจากเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจจากเฟดฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนส.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ส.ค. ของจีน และผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแอลดีพีของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 63)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท