ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 31 ม.ค. เนื่องจากนักลงทุนวิตกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ และการเปิดเผยผลประกอบการที่ไร้ทิศทางของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐนั้น ได้ตอกย้ำความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ แรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาอย่างหนัก ฉุดตลาดลงด้วย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,256.03 จุด ร่วงลง 603.41 จุด หรือ -2.09%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,225.52 จุด ลดลง 58.14 จุด หรือ -1.77%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,150.94 จุด ลดลง 148.00 จุด หรือ -1.59%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 2.5%, ดัชนี S&P500 ร่วง 2.1% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 1.8% โดยดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ร่วงลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. 2562
ส่วนทั้งเดือนม.ค. ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วง 1% และดัชนี S&P500 ลดลง 0.2% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 2%
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดร่วงในวันศุกร์ โดยหุ้นกลุ่มพลังงานนำตลาดดิ่งลง 3.18%
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) ได้ออกมาตรการกักกันชาวอเมริกันทั้งหมดที่เดินทางกลับมาจากจีนมายังฐานทัพอากาศในแคลิฟอร์เนีย แต่ตลาดฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดของวัน หลังนายโรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการ CDC ระบุว่า ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ
หุ้นกลุ่มสายการบินร่วงลง โดยหุ้นเดลตา แอร์ไลน์ ร่วง 2.38% และหุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ ร่วงลง 3.17% หลังสองสายการบินนี้ เปิดเผยว่าจะระงับเที่ยวทั้งหมดไปยังจีน
บรรดานักเศรษฐศาสตร์วิตกว่าไวรัสโคโรนาอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรค SARS ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 800 คนในปี 2545-2546 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกราว 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากจีนมีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน
หุ้นกลุ่มพลังงานนำตลาดปรับตัวลง โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล คอร์ป ร่วง 4.09% และหุ้นเชฟรอน คอร์ป ร่วง 3.82% หลังเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง
หุ้นวีซ่า อิงค์ ร่วง 4.4% หลังเปิดเผยรายได้ไตรมาสแรกต่ำกว่าคาด และเตือนว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับมาตรการจูงใจลูกค้าจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรในปีนี้
การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐถ่วงตลาดลงด้วย โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดภาคการผลิตในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 42.9 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2558 จากระดับ 48.2 ในเดือนธ.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.8 โดยดัชนี PMI เขตชิคาโกอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 7 โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนธ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพ.ย.
ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย.
ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 99.8 ในเดือนม.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 99.1 หลังจากแตะระดับ 99.3 ในเดือนธ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 63)
Tags: dowjones, Nasdaq, S&P500, ดาวโจนส์, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก