น.ส.รวิภา บุญอยู่ Senior Investor Relations Executive บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปีนี้เติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 80,871 ล้านบาท เป็นไปตามการฟื้นตัวของ 4 กลุ่มธุรกิจ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง
โดยกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging Supply Chain (PSC) ในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทฯ จะเข้าไปจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้น แบ่งเป็น กลุ่มแก้ว จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขวดให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น และขยายไปในกลุ่ม Food & Pharma เนื่องด้วยในช่วงที่ผ่านพบว่า Functional Drinks ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี จากลูกค้าหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีการเติบโตที่ดี และในส่วนของกระป๋อง ก็มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ขนาด 500 ml ถือเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ เหมาะกับเครื่องดื่มบางประเภท เช่น Craft Beer หรือน้ำผลไม้บางชนิด ซึ่งลูกค้าก็มีการออร์เดอร์เข้ามาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังมีการมองไปใน Segment อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
สำหรับกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคและบริโภค หรือ Consumer Supply Chain (CSC) บริษัทฯ ได้รุกเข้าไปในเทรนด์รักสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับกับกระแสโลกในยุคปัจจุบัน เช่น ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาด ที่เกี่ยวกับการฆ่าเชื้อโรค, เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ, แอลกอฮอล์ และทิชชูที่มีส่วนผสมของสารแอนตี้แบคทีเรีย เป็นต้น อีกทั้งยังโฟกัสไปยังช่องทางการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมถึงยังมุ่งมั่นเชื่อมโยงการขนส่งไปยังภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามเหนือและใต้ เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตในแต่ละธุรกิจของ BJC
กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค หรือ Healthcare & Technical Supply Chain (H&TSC) บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นรักษาความสัมพันธ์กับทางคู่ค้าทั้งในไทยและทั่วโลก รวมถึงมุ่งหาลูกค้าใหม่ ๆ เพื่อนำสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาสู่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่ม Technical บริษัทฯ ก็ได้มุ่งสู่ธุรกิจพลังงาน (Green energy business) มากขึ้น โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป
ขณะที่กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (BigC) แม้ว่ายอดขายในปัจจุบันจะยังทรงตัวจากไตรมาส 2/63 แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ โดยบริษัทฯ จะโฟกัสไปที่ Product Assortment มากขึ้น โดยดูว่าสินค้าใดขายดีหรือขายไม่ดี และดูพื้นที่เพื่อจัดวางสินค้าให้เหมาะสม เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า สร้างความสะดวกสบายในการเข้ามาซื้อสินค้า และดูเรื่องของสต็อกสินค้าจำเป็นจะต้องไม่ให้ขาดสต็อก ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่มีการสต็อกสินค้าในปริมาณที่มากเกินไปด้วย รวมถึงมุ่งมั่นสร้างการเชื่อมโยง Omni-channel และ O20 Integration และการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ ผ่านการทำโปรโมชั่นต่างๆ
พร้อมกันนี้ในส่วนของพื้นที่เช่าก็จะพยายามหาผู้เช่ารายใหม่ๆ หรือร้านค้าที่ตอบโจทย์ New normal หรือ New lifestyle ของลูกค้า เช่น เน้นไปที่ร้านอาหารที่ได้รับความนิยม หรือร้านอาหารท้องถิ่นที่ผู้บริโภคชื่นชอบเข้ามาเปิดในพื้นที่ศูนย์การค้า BigC มากขึ้น
น.ส.รวิภา กล่าวว่า แผนการขยายสาขาในปีนี้ บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายขยายสาขาในส่วนของ Hypermarket จำนวน 2 สาขา ในประเทศไทย, Supermarket จำนวน 2 สาขา และ Mini Big C จำนวน 240 สาขา โดยในไตรมาส 2/63 ได้มีการเปิดสาขา Mini Big C ไปแล้ว 46 สาขา และมีการปิดสาขาไปจำนวน 6 สาขา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ย. 63)
Tags: BJC, รวิภา บุญอยู่, หุ้นไทย, เบอร์ลี่ ยุคเกอร์