คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ได้เรียกร้องให้บรรดาบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ เฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์ เร่งจัดการกับปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ บริษัทโซเชียลมีเดียเหล่านี้ได้ลงนามเมื่อปี 2561 เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบต่อต้านข่าวปลอมอย่างเข้มงวด ขณะที่ไมโครซอฟท์ และติ๊กต็อก (TikTok) ได้เข้าร่วมภายหลัง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปยังข้อบกพร่องหลายประการหลังจากการประเมินการดำเนินการในช่วงปีแรก
“ข้อบกพร่องดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การปฎิบัติตามกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องและไม่สมบูรณ์บนแพลตฟอร์ม การนิยามความหมายที่ไม่สอดคล้องกัน การเกิดช่องว่างในการปฎิบัติตามกฎระเบียบ และข้อจำกัดของแนวทางปฎิบัติที่เกิดจากการกำกับดูแล”
คณะกรรมาธิการยุโรประบุ
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติของประเทศต่างๆ ได้เรียกร้องให้บรรดาโซเชียลมีเดียหยุดการโฆษณาการเมืองทางออนไลน์ที่มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลนั้น ได้ร่วมประชุมกันที่เมืองดับลิน เพื่อรับฟังหลักฐานจากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และกูเกิล รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เกี่ยวกับอันตรายทางออนไลน์, คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง และการแทรกแซงการเลือกตั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 63)
Tags: EU, Social Media, กูเกิล, ข่าวปลอม, ติ๊กต็อก, ทวิตเตอร์, เฟคนิวส์, เฟซบุ๊ก, โซเชียลมีเดีย, ไมโครซอฟท์