“ศุภชัย พานิชภักดิ์” ปัดนายกฯทาบนั่งรมว.คลัง แนะประคองเศรษฐกิจให้พ้นวิกฤตโควิด-19

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ปฎิเสธว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ได้ทาบทามให้ตนเองเป็น รมว.คลังคนใหม่ โดยกล่าวสั้นๆว่า ไม่เกี่ยวกัน โดยระบุว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะพิจารณา และเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีจะเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุด

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจ หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 นายศุภชัย กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียที่บริหารจัดการได้ดีระดับหนึ่ง และถึงแม้จะมีการกลับมาระบาดอีกรอบ เชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้ อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจ จนมีการขยายตัวด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและด้านการบริโภค

ขณะเดียวกันมองว่า สถานการณ์ในประเทศไทยถือว่าดีกว่าประเทศอื่น เพราะประชาชนให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเอง และทุกฝ่ายให้การสนับสนุน ซึ่งส่วนตัวมองว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เพราะทั่วโลกประสบปัญหา

“ตอนนี้เศรษฐกิจกระตุ้นไม่ได้ เพราะโลกยังวิกฤติ กระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ไม่ได้ แต่ต้องหล่อเลี้ยงไม่ให้ทรุดลง ทั้งรายเล็ก รายย่อย และรายใหญ่ด้วย ต้องให้เขาไปได้ก่อน หล่อเลี้ยงให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้”

นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย ยังระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 น่าจะหดตัวน้อยลง และตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงกว่าที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปด้วยดี แต่จำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง และคาดว่าในต้นปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ไม่เลวร้ายเท่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสิ่งสำคัญคือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการใหญ่และการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ และต้องใช้งบประมาณให้ตรงเป้าหมายและคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ใช้จ่ายงบประมาณอย่างระมัดระวังมากที่สุดแล้ว

ส่วนการชุมนุมจะกระทบภาคเศรษฐกิจหรือไม่ นายศุภชัย มองว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่มีที่ใดในโลกที่ไม่มีการประท้วง โดยเฉพาะการประท้วงเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งการประท้วงถือเป็นธรรมชาติที่ผู้เดือดร้อนต้องการแสดงออกและมีข้อเรียกร้องต่างๆ และทางออกคือต้องเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ขอให้เป็นรูปแบบที่สร้างสรรค์ และส่วนตัวมองว่าการโจมตีกันเป็นเรื่องง่าย แต่ควรหาแนวทางแก้ไขร่วมกันจะดีกว่า เพราะในเวลานี้ทุกคนถูกกดดันกันหมด

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ส่วนตัวเป็นห่วงที่ยุโรปและอเมริกา ส่วนภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวได้ หากทุกประเทศร่วมมือกันก็จะสำเร็จ โดยเฉพาะในด้านการป้องกันและควบคุมโรค รวมไปถึงการผลิตวัคซีน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top