การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เกษตรกรเผชิญปัญหาในการเพาะปลูกเนื่องจากรายได้ที่ลดลง และมาตรการต่างๆที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดนั้น ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาอาหารทั่วโลกเดือนส.ค.อยู่ที่ระดับ 96.1 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 94.3 จุดในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 3 นอกจากนี้ ดัชนีราคาอาหารทั่วโลกเดือนส.ค.ยังทำสถิติสูงสุดนับแต่เดือนก.พ.ปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการอาหารที่มากขึ้นและสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง โดยการซื้อขายอาหารในตลาดโลกส่วนใหญ่จะถูกกำหนดด้วยสกุลเงินดอลลาร์
ทางด้านธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะไม่ส่งผลให้เกิดอาหารขาดแคลน แต่มาตรการต่างๆที่ใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดก็ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก สร้างผลกระทบต่อการเพาะปลูก และทำให้เกษตรกรขาดแคลนรายได้ ซึ่งลงท้ายอาจทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในหลายประเทศได้
รายงานล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า ราคาอาหารในประเทศจีนพุ่งขึ้น 11.2% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 52.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ซึ่งส่งผลให้ทางการจีนต้องสั่งฆ่าหมูในประเทศไปหลายล้านตัว
นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนและมีฝนตกในจีนยังทำให้ราคาผักปรับตัวขึ้น 6.4% และราคาไข่พุ่งขึ้น 11.3% เมื่อเทียบรายเดือน เนื่องจากความต้องการสินค้าสูงกว่าปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในสต็อก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 63)
Tags: FAO, NBS, ธนาคารโลก, ราคาอาหาร, สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน, องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ, อาหารโลก, เวิลด์แบงก์, โควิด-19