นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า ฝ่ายครัวการบิน ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของการบินไทย จึงได้พัฒนาเพื่อเพิ่มรายได้ด้วยจัดกิจกรรมพิเศษด้วยการปรับห้องอาหารสำนักงานใหญ่มาเป็นร้านอาหารเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า โดยนำวัสดุ อุปกรณ์ เก้าอี้จากห้องโดยสารเครื่องบิน และอะไหล่ที่หมดอายุการใช้งานมาตกแต่งสถานที่เพื่อสร้างบรรยากาศ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า พร้อมทั้งบริการอาหารที่มีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์ของการบินไทย ทำให้ขณะนี้มียอดจองเข้ามาค่อนข้างมาก
ในวันนี้ (9 ก.ย.) พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ THAI เป็นประธานเปิดตัว Royal Orchid Dining Experience โดยได้นำอาหารจากบูธที่ได้รับความนิยม ในกิจกรรม “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้” ที่บริการในชั้น Business Class และ First Class มาให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสอาหารเหมือนบริการบนเครื่องบิน
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การบินไทยจะปรับรูปแบบการให้บริการร้านอาหารดังกล่าวมาเป็นเปิดให้บริการทุกวัน และพัฒนารูปแบบเป็นภัตตาคาร พร้อมทั้งจัดสรรพื้นที่ต่างหากแยกออกจากสำนักงาน นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายไปเปิดในอาคารที่มีสำนักงานสาขาของการบินไทยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เช่น สำนักงานสีลม และหลานหลวง โดยจะศึกษาความต้องการในพื้นที่เพื่อมาออกแบบของร้านและบริการ ซึ่งรูปแบบอาจจะแตกต่างกันบ้าง บางแห่งอาจจะเป็นร้านพื้นที่เปิด (Open Space) บางแห่งเป็นร้านกาแฟ หรือภัตตาคาร เนื่องจากลูกค้าแต่ละพื้นที่อาจจะเป็นคนละกลุ่มกัน
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้การบินระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ตามปกติ แต่การบินไทยยังมีรายได้จากคาร์โก้ บริการภาคพื้น และด้านซ่อมบำรุง ประกอบกับมีการปรับลดค่าใช้จ่ายลง โดยเฉพาะต้นทุนสำคัญ คือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ที่บริษัทกระทบทมากที่สุดคือไม่มีรายได้จากการบิน
ด้านนางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายครัวการบิน THAI กล่าวว่า จากการที่กิจกรรม”อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้”ที่จัดขึ้นในสำนักงานใหญ่เมื่อเดือน ก.ค.และ ส.ค.ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทำให้การบินไทยมีแนวคิดปรับปรุงห้องอาหาร ให้เป็น Royal Orchid Dining Experience โดยพนักงานได้ร่วมมือกันทำและนำวัสดุอุปกรณ์ อะไหล่เครื่องบินที่หมดอายุมาตกแต่งสถานที่ โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
เช่น นำเก้าอี้ในห้องโดยสารเครื่องบินมาเป็นเก้าอี้รับประทานอาหาร แกนในและใบพัดเครื่องยนต์มาทำเป็นขาโต๊ะ นำ Spinner Core ซึ่งเป็นแกนกลางเครื่องยนต์มาจัดแสดงเป็ฯจุด Check-in และนำรถบันไดสำหรับขึ้นเครื่องบินมาทำเป็นทางขึ้นร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งจากที่ได้ทดลองเปิดบริการแบบภัตตาคารการบินไทยในช่วง 3-4 วัน สร้างรายได้ประมาณ 3-4 ล้านบาท ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก
ในปี 62 ครัวการบินมีรายได้ 8,900 ล้านบาท เป็นรายได้จากบริการสายการบิน 90% บริการร้านอาหารธุรกิจภาคพื้น Puff & Pie Bakery House ประมาณ 10% แต่หลังจากเกิดโรคโควิด-19 สายการบินหยุดทำการบิน รายได้ในส่วนการบินหายไป ซึ่งบริษัทจึงได้พยายามหารายได้เพิ่มจากบริการธุรกิจภาคพื้น ด้วยการเพิ่มบริการ Delivery และออกงานอีเวนต์ต่างๆ ล่าสุด มีกิจกรรม”อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้” ที่สำนักงานใหญ่
และภายในปีนี้จะขยายรูปแบบภัตตาคารการบินไทย ไปที่สาขาสีลม และหลานหลวง รวมถึง ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ และมองไปที่ Global ภายใต้ครัวไทยสู่ครัวโลกอีกด้วย เพราะแบรนด์การบินไทย เป็นที่รู้จักของทั่วโลกอยู่แล้ว จะเป็นจุดที่เพิ่มยอดขายให้ครัวการบินได้
นางวรางคณา กล่าวว่า เป้าหมายในการขยายบริการธุรกิจครัวการบินไปทั่วประเทศในรูปแบบต่างๆ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้การบินไทยจุดละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี เพราะโดยมูลค่าการค้า แต่ละร้านจะทำรายได้ประมาณ 100-200 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารของการบินไทยต้องมีมาตรฐานด้านคุณภาพ และความปลอดภัยระดับสากล
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ศาลล้มละลายนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ในวันที่ 14 ก.ย.63 เวลา 10.00 น. ซึ่งหากศาลอนุญาตตามขั้นตอนจะต้องดำเนินการปิดบัญชีให้ได้ภายใน 7 วัน จากนั้นจะให้เจ้าหนี้ทั้งหมดยื่นแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งการบินไทยได้เตรียมพื้นที่ทั้งที่ กรมบังคับคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานใหญ่ การบินไทย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น จะเป็นการทำแผนฟื้นฟู และเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อให้เห็นชอบแผนฟื้นฟูจากนั้น จึงจะยื่นแผนไปที่ศาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการทั้งหมด ประมาณ 2-3 เดือนหลังจากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้การบินไทยทำแผนฟื้นฟู
“ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับเจ้าหนี้ตลอด ซึ่งเจ้าหนี้ให้การสนับสนุน ประมาณ 50-60% กลุ่มธนาคาร เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้เครื่องบิน ที่เห็นว่ากระบวนการฟื้นฟูดีกว่าการล้มละลายแน่นอน ส่วนเจ้าหนี้ที่คัดค้าน ประมาณ 15-16 ราย มูลหนี้ประมาณ 1-2% ซึ่งถือเป็นความเห็นที่ดี และนำประเด็นบางอย่างมาใช้ประโยชน์ในการทำแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหนี้ที่คัดค้าน กังวลเรื่องเรื่องตั๋ว ซึ่งสามารถแลกเป็นบัตรกำนัลการเดินทาง (Travel Voucher) หรือ สมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส (Royal Orchid Plus) มีการขยายเวลาออกไป”
นายชาญศิลป์ กล่าว
ส่วนการบินไทยจะกลับมาบินได้เมื่อใดนั้น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)ประเมินว่าขึ้นกับวัคซีน และแต่ละประเทศจะเปิดได้เมื่อใด รวมถึงการระบาดโควิด-19 รอบที่สองจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การบินภายในประเทศเริ่มกลับมาให้บริการได้แล้ว ซึ่งขณะนี้สายการบินไทยสมายล์มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ประมาณ 50-60% นโยบายยังคงให้ไทยสมายล์ทำการบินภายในประเทศ เพราะมีเครื่องบินลำตัวแคบ มีต้นทุนต่ำกว่า ส่วนการบินไทยจะบินระหว่างประเทศและส่งต่อผู้โดยสารให้ไทยสมายล์ ซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว ปัจจุบันยังมีการบินระหว่างประเทศเป็นเที่ยวบินพิเศษเพื่อรับผู้โดยสารคนไทยและผู้โดยสารที่มีความจำเป็นเดินทาง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 63)
Tags: THAI, การบินไทย, ครัวการบินไทย, ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร, ฟื้นฟูกิจการ, วรางคณา ลือโรจน์วงศ์, สายการบิน, หุ้นไทย, แผนฟื้นฟู, แผนฟื้นฟูกิจการ