นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารเดินหน้าควบคุมคุณภาพหนี้ในช่วงครึ่งปีหลังเชิงรุกมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่กอให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าในปัจจุบันจะยังเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากลูกค้าบางรายที่ได้รับผลกระทบยังอยู่ในช่วงมาตรการพักชำระหนี้
ในช่วงไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 ธนาคารยังคงมีแผนการตัดขาย NPL ออกไปเฉลี่ยไตรมาสละ 2 พันล้านบาท เพื่อควบคุม NPL ของธนาคารในสิ้นปีนี้ให้ไม่เกิน 3% จากครึ่งปีแรกที่ 2.4% แม้ว่าจะยังเห็นแนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้นชัดเจนในขณะนี้ ซึ่งการที่ธนาคารตัดขาย NPL ออกไปจะช่วยลดภาระการตั้งสำรองฯของธนาคารไม่ให้สูงมากเกินไป และทำให้ผลกระทบต่อกำไรของธนาคารไม่มากนัก
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ของพนักงานบางส่วนราว 100 คนจากพนักงานขายมาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยลูกค้าวางแผนทางการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับลูกค้าล่วงหน้าในการหาแนวทางที่เหมาะสม ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การสร้างรายได้ เพื่อทำให้ลูกค้ากลับมามีความสามารถชำระหนี้ และยังเป็นลูกค้าที่ดี มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียด้วยเช่นกัน
“การที่ธนาคารขายหนี้ออกไปก็เหมือนกับการแลกกำไร เพื่อทำให้สุขภาพทางการเงินดีขึ้น เพราะถ้าไม่ขายออกไป เราก็ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส ซึ่งสุดท้ายจะไปกระทบกำไรของธนาคาร ส่วนการกลับมาจ่ายปันผลก็ต้องรอนโยบายจากแบงกชาติต่อไปว่าจะออกมาอย่างไร เพราะกว่าจะจ่ายอีกที่ก็เดือนเม.ย.ปีหน้า”
นายปิติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ NPL จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการกลับมาชำระหนี้จากลูกค้าบางกลุ่มเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่กลับมาชำระปกติราว 90% แต่ยังเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ช่วงเริ่มต้น แต่ยังไม่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง เนื่องจากยังมีลูกค้ากลุ่มอื่นที่ยังอยู่ในช่วงพักชำระหนี้
นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนการทำ Debt Consolidation ที่เป็นการรวมหนี้เพื่อช่วยลูกค้าแก้ปัญหา โดยนำหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล มารวมกับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่ สินเชื่อที่มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ทำให้ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง ซึ่งในเบื้องต้นจะทำกับหนี้ในธนาคารเดียวกัน และอาจจะขยายต่อเนื่องไปต่างธนาคาร โดยในส่วนของธนาคารมีลูกหนี้ที่มีทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลอยู่ประมาณ 10-20%
ส่วนกรณีการที่สมาคมธนาคารไทยจะเพิ่มเพดานค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.เป็น 50% นั้น นายปิติ กล่าวว่า คงจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่มาก โดยสิ่งที่ธนาคารมองจะเป็นประโยชน์ต่อการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรายใหญ่เพื่อให้กระจายไปสู่ซัพพลายเชนที่เป็นรายกลางและรายย่อยได้ ซึ่งจะเป็นอีกทางที่ทำให้สภาพคล่องไหลลงไปสู่เอสเอ็มอี
ขณะที่แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเร็วมากจนกลายเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่ของประเทศจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือนก.ย. 62 พบคนไทยประมาณ 21 ล้านคนเป็นหนี้ โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics พบว่าในปี 61 หนี้ของคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจากการบริโภค (Personal Consumption) สะท้อนจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่มีสัดส่วนสูงถึง 34% ขณะที่หนี้รถมีสัดส่วน 25% หนี้บ้านมีสัดส่วน 40% และ หนี้อื่นๆ อีก 1% ขณะที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และ อังกฤษ หนี้ที่เกิดจากการบริโภคมีสัดส่วนไม่ถึง 5% โดยปัญหาหนี้อาจจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว ประกอบกับ ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างความสะดวกในการใช้จ่าย และช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้นด้วย
“TMB และ TBANK ต้องการที่จะปลดล็อกบทบาทใหม่ของธนาคารเพื่อที่จะช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทยทั้งประเทศ เราอยากเป็นเหมือนคู่ชีวิตของลูกค้า เมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วชีวิตของลูกค้าจะต้องดีขึ้นในระยะยาว มีสุขภาพการเงินที่ดีไปด้วยกัน นี่คือ ความหมายของการเป็น Sustainable Banking คือ การเติบโตไปพร้อมๆ กับลูกค้าของเราในระยะยาว และ เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น”
นายปิติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 63)
Tags: TBANK, TMB, ทีเอ็มบี, ปิติ ตัณฑเกษม, หนี้เสีย, เอ็นพีแอล