“มิ่งขวัญ” ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลจัดทำงบประมาณตรวจสอบยาก
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล โดยเชื่อว่า ในงบฯปี 63 รัฐบาลเก็บรายได้ไม่ตรงตามเป้าที่วางไว้ พร้อมตั้งข้อสังเกตการจัดทำงบประมาณที่แตกต่างกับรัฐบาลในอดีต ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า การตั้งงบฯปี 63 และ 64 รัฐบาลให้ความสำคัญกับงบกลางเป็นอันดับ 1 แตกต่างกับในอดีตที่ให้ความสำคัญกับงบฯของกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นอันดับแรก ซึ่งการจัดเตรียมงบกลางในลักษณะนี้ทำให้เกิดการตรวจสอบยาก เพราะอำนาจการสั่งการอยู่ที่นายกฯ เพียงคนเดียว
โดยในส่วนของการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นายมิ่งขวัญ เสนอแนวคิดให้รัฐบาลนำเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท และเงินส่วนอื่นๆ อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ไปช่วยเหลือประชาชนที่มีความยากลำบากอย่างแท้จริง โดยให้ประชาชนคนละ 5,000 บาท/ราย/เดือน เป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 33 ล้านคน
นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังในตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่บริหารงานด้วยวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาด จะเห็นได้ว่า ผลกระทบที่ตามมาทั้งเรื่องการส่งออกที่ติดลบและการท่องเที่ยวที่รายได้หดหาย รวมถึงปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำธุรกิจในไทย เช่น การตั้งล้งผลไม้
นอกจากนี้ยังมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีนายทุนสนับสนุนอยู่รอบตัว ซึ่งหลายโครงการเอื้อให้นายทุนรายใหญ่ ล่าสุดรัฐบาลเตรียมแจกเงินอีก 3,000 บาทให้กับประชาชน 15 ล้านคน ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่าเงินจำนวนนี้จะหมุนไปสู่นายทุน
อย่างไรก็ตาม นายมิ่งขวัญ เสนอทางออกว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องลาออก และต้องให้มีคนเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญโดยอิสระ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไป และเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเรียบร้อยจึงจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
นายกฯ แจงใช้งบฯรอบคอบ ยันทุกโครงการต้องผ่านครม.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ชี้แจงการอภิปรายของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ว่า ถึงแม้ตนเองจะไม่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์เหมือนนายมิ่งขวัญ แต่ตนเองมีทีมที่ปรึกษาที่มีความสามารถ
ในการขอช่วยเหลือจากบรรดาเศรษฐีของไทยนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสอบถามแนวทางการช่วยเหลือประเทศชาติ การดูแลการจ้างงาน การช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้มีการร้องขออะไรระหว่างกัน ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา
ส่วนการใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีวงเงินอยู่ 9.9 หมื่นล้านบาท และทุกครั้งที่จะใช้เงินต้องมีรายละเอียดแผนงานโครงการ และต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) จึงจะอนุมัติได้ ไม่ใช่ใครขอมาก็อนุมัติให้ เพราะไม่ใช่เงินของตนเอง
สำหรับเงินกู้เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้นมีเพียง 1 ล้านล้านบาท นำไปใช้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้ไปไม่กี่พันล้านบาท อีก 5.5 แสนล้านบาทที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเดือนละ 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งยังมีผู้ตกค้างอยู่บางส่วน แต่ที่เสนอให้เยียวยาเดือนละ 5 พันเป็นเวลา 12 เดือนนั้นต้องใช้งบมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท และงบฟื้นฟูอีก 4.4 แสนล้านบาทนั้นยังมีปัญหาอีกหลายเครื่องที่ต้องดำเนินการแก้ไข ไม่สามารถใช้ให้หมดไป และยืนยันไม่ได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาตามมาอีก ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ว่า ต้องดำเนินการทั้งระบบ เช่น แนวทางการลดต้นทุนการผลิต ไม่สามารถที่จะประกันราคาให้สูงเกินไป การดำเนินการของรัฐบาลต้องรอบคอบ
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เกิดจากความล้มเหลวในการบริการงานของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และเกิดการจ้างงาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเองเคยคุยกับนายมิ่งขวัญมาหลายรอบแล้ว เคยพูดว่าตนเองว่าพร้อมที่จะเข้ามาช่วยงานเป็นรองนายกรัฐมนตรี “ผมคงไม่รับ ผมมีครบแล้ว มีเต็มแล้ว เอาไว้คราวหน้าแล้วกัน”
ทันทีที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงจบ นายมิ่งขวัญ ลุกขึ้นชี้แจงหลังถูก พล.อ.ประยุทธ์ พาดพิงเรื่องการร่วมรัฐบาลว่า ตนเองไม่ไปร่วมงานกับรัฐบาลแน่นอน
“เขาชวนผม ผมก็ไม่ไป ถ้าผมไปผมไปแล้ว อย่าพูดให้คนเข้าใจไขว้เขว”
นายมิ่งขวัญ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 63)
Tags: การเมือง, งบประมาณ, ประชุมสภา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พรรคเศรษฐกิจใหม่, มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์, อภิปรายทั่วไป