คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า ในช่วงที่เหลือของปี 63 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเสีย momentum การฟื้นตัว หลังจากที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสองในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นตัน
ทำให้แรงขับเคลื่อนของการฟื้นตัวเหลือแค่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน เป็นหลัก จึงต้องติดตามว่าทั้งสองประเทศนี้จะสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการระบาดรุนแรงได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีอุปสรรคอยู่มาก
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.63 หดตัวน้อยลง ต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. ภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาว รวมถึงการคลายล็อกกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ แต่โดยรวมเศรษฐกิจยังอ่อนแออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน นอกจากนี้ สถานการณ์ตลาดแรงงานน่าเป็นห่วง โดยมีผู้ว่างงานทั้งหมดแล้วกว่า 7 แสนคน ณ สิ้นไตรมาส 2/63 และยังมีผู้มีงานประจำแต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานอีกกว่า 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 62
ส่วนทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับยุทธศาสตร์นโยบายการเงินเมื่อวันที่ 27 ส.ค.63 เฟดประกาศปรับยุทธศาสตร์นโยบายการเงิน ส่งผลให้ดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง เป็นความเสี่ยงให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า นอกจากนี้ ในช่วงที่เหลือของปีค่าเงินบาทยังมีแรงหนุนแข็งค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังจะมีการเกินดุลต่อเนื่องและจะเกินดุลเพิ่มหากมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาผ่านมาตรการ Travel Bubble อย่างไรก็ดี ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ การเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน (Risk-On sentiment) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ไม่อิงกับปัจจัยพื้นฐาน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสมมติฐานที่จะไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ กอปรกับภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง แต่อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังคงเปราะบางสูงจากความไม่แน่นอนรอบด้านที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคและการลงทุน ที่ประชุม กกร. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2
สำหรับทั้งปี 63 กกร. คงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวในกรอบ -9.0% ถึง -7.0% ขณะที่คงประมาณการการส่งออกอาจจะหดตัวในกรอบ -12.0% ถึง -10.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง -1.0%
กกร.ระบุว่า จะให้ความสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดขั้นตอนการทำงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น โดยนำผลการศึกษาของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) นำไปปฏิบัติในการปรับปรุงกฎหมายให้เกิดขึ้นได้จริง โดยจะกำหนดเป้าหมายในการติดตามเรื่องดังกล่าวกับทางภาครัฐ โดยจะนำผลการศึกษาที่ทำงานร่วมกันผ่านหลายคณะทำงาน เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
ด้านประเด็นการค้ำประกันเงินกู้ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME จากการปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น กกร.จะได้มีการศึกษาร่วมกันในการให้ บสย. เข้ามาค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่ม Max Claim จาก 30% ให้มากขึ้น
นอกจากนั้น ประเด็นการเบิกจ่ายเงินของโครงการภาครัฐ สำหรับผู้ประกอบการที่รับโครงการจากภาครัฐและได้มีการส่งมอบงานแล้ว กกร. เสนอให้หน่วยงานรัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของโครงการของภาครัฐภายใน 30 วัน และให้หน่วยงานภาครัฐทุกประเภทสามารถโอนสิทธิการรับเงินให้กับธนาคารได้ด้วย
ส่วนผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ทาง กกร. จะศึกษารายละเอียดร่วมกันเพื่อหาจุดยืนและนำเสนอภาครัฐต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 63)
Tags: SME, กกร., คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน, ค่าเงินดอลลาร์, ค่าเงินบาท, ทีดีอาร์ไอ, บสย., ปยป., เฟด, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย